นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเทศไทยห่างหายจากการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีมานาน ซึ่งการลงนามในเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในครั้งนี้เพิ่มจะทำให้ไทยกลับเข้ามาสู่แผนที่โลก โดยรัฐบาลปัจจุบันเร่งเจรจาอีกหลายฉบับ เช่น สหภาพยุโรป (EU) สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์
นอกจากนี้ล่าสุด ยังได้หารือกับรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์บาห์เรน เพื่อเร่งเจรจาการค้าเชิงรุกให้ไทยเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารแก่ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งผลักดันการจัดทำ FTA ระหว่างไทย และบาห์เรน
สำหรับการเจรจากับ EU ถือว่ามีประเด็นเจรจาที่ซับซ้อน โดยจะมีการเจรจาอีกครั้งในเดือน มี.ค.2568 ณ กรุงบรัสเซลส์ ซึ่งที่ผ่านมาเจรจาได้ข้อสรุปเรื่องแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ และบทความโปร่งใส เพื่อสร้างความโปร่งใส ด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และจะให้เจรจาจบในปี 2568
ทั้งนี้ ยุโรปถือเป็นตลาดหลักของไทยที่ได้เร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีฉบับแรกกับกลุ่มยุโรป คือ สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2568 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ส่วนขั้นตอนหลังการลงนามจะเปิดรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนก่อนเสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ จากนั้นจะออกกฎหมายรองรับข้อตกลงก่อนให้สัตยาบันคาดว่าใช้เวลารวม 1 ปี
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ไทยกำลังเข้าขยายตลาดในสหภาพยุโรป เต็มที่ หลังจากลงนามกับ EFTA เหมือนประตูที่จะผ่านไป EU และแม้การส่งออกไปกลุ่ม EFTA เพียง ร้อยละ 2 ของการส่งออกทั้งหมด แต่ถือเป็นประตูที่จะสร้างความสัมพันธ์และการตลาดกับสหภาพยุโรปในอนาคต
ทั้งนี้ การลงนามครั้งนี้เป็นเหมือนแบบฝึกหัดก่อนที่ทางประเทศไทยจะทำกับ EU จะต้องมีการติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิด เพราะถือว่าต้นแบบที่จะนำทางไปสู่ข้อตกลงการค้าเสรีกับ EU ในระยะต่อไป
ดังนั้นจะต้องมีการประเมินผลว่าข้อตกลงใดที่ควรจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขจะต้องมีการติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด
สรุปข่าว