นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในปี 2568 ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจที่ต้องจับตามี 5 เรื่อง คือ 1.แนวทางนโยบายเศรษฐกิขอขงสหรัฐฯ 2.ผลกระทบต่อภาคการผลิตอุตสาหกรรมไทย 3.ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาตร์โลก และ 5.ปัญหาหนี้ครัวเรือน
โดยในส่วนของนโยบายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้น กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการติดตามและประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหลายนโยบายค่อนข้างดุเดือด ชัดเจน
ขณะที่มีอีกหลายนโยบายที่ยังไม่ได้ดำเนินการ จึงต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด แต่เบื้องต้นมองว่าผลจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้า ซึ่งอาจมีผลต่อภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าคอมพิวเตอร์ ยางพารา และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ขณะเดียวกันอาจจะมีผลทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง แม้ว่ามาตรการด้านภาษีที่จะดำเนินการกับจีนจะยังไม่ชัดเจน ซึ่งในส่วนนี้อาจส่งผลให้ความต้องการสินค้าไทยจากจีนลดลง ตลอดจนจีนอาจจะมีการเร่งระบายสินค้าออกมา ทำให้สินค้าไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงคลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตร่วมกับหน่วยงานทุกส่วนที่เกี่ยวข้องผ่านเครื่องมือการคลังในมิติต่าง ๆ ส่วนนโยบายการเงินจะต้องดำเนินการควบคู่กันไป
โดยในเดือน ก.พ. นี้ จะมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์
เพื่อพูดคุยเรื่องทิศทางเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน และนโยบายการคลังว่ารูปแบบจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดคุยกันปกติอยู่แล้ว แต่อาจจะเข้มข้นมากขึ้น
ในส่วนของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นั้น คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ย 1 ครั้งในเดือนกรกฎาคม 2568 โดยเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องนำเรื่องนี้ไปประกอบการพิจารณาการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยด้วย
แต่หากพิจารณาจากข้อมูลในอดีต จะพบว่า ทุกครั้งที่เฟดมีการขยับเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในส่วนของไทยอีกราว 1 ไตรมาสต่อมาก็จะมีการขยับตัวตามไปด้วย
สรุปข่าว