ยันค่าจ้างแรงงานข้ามชาติไม่เกิน 2 หมื่น

สรุปข่าว

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติตามมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2567 ว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเพราะต้องการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติแย่งอาชีพสงวนของคนไทย นำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบเพื่อตรวจสอบ ติดตาม  และควบคุมการจ่ายภาษีและเงินสมทบประกันสังคมตามกฎหมายไทย รวมถึงดูแลคุณภาพชีวิตตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลโดยทุกขั้นตอนของการขึ้นทะเบียนจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและเข้มงวด ทั้งการตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคเข้ามายังประเทศไทย การจัดเก็บอัตลักษณ์และพิสูจน์สัญชาติ ที่ต้องผ่านการรับรองจากทางการของประเทศต้นทาง ไม่ใช่รับรองฝ่ายเดียว หากพบว่าเคยกระทำผิดก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมทั้งจะต้องทำประกันภัยกับบริษัทที่มีความมั่นคง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง


สำหรับข้อกังวลเรื่องการเก็บภาษีหรือค่าใช้จ่ายการให้บริการต่าง ๆ จากแรงงานข้ามชาติของประเทศต้นทางนั้นถือเป็นเรื่องภายในประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่ามีการเรียกเก็บแต่อย่างใด แต่โดยหลักการแล้วไม่ว่าคนของประเทศไหนไปทำงานต่างประเทศก็ต้องส่งรายได้กลับประเทศเหมือนกับกรณีของคนไทยที่ไปทำงานประเทศอื่น 


ส่วนค่าใช้จ่ายในการต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติในลักษณะ MOU นั้น กระทรวงแรงงานได้ส่งหนังสือชี้แจงไปยังสภาผู้แทนราษฎรแล้วตามที่ ส.ส.ฝ่ายค้านได้ตั้งข้อสังเกต โดยยืนยันว่า ค่าใช้จ่ายต่อคนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 7,600 บาท ไม่ใช่ 20,000 บาท ตามที่มีการกล่าวอ้าง แบ่งเป็น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานและเงินประกันของกระทรวงแรงงาน  2,900 บาท (ขอคืนเงินประกันได้ 1,000 บาท เมื่อครบสัญญา 2 ปี) ค่าธรรมเนียม VISA ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 500 บาท และค่าธรรมเนียมการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ 2 ปี ของกระทรวงสาธารณสุข ไม่เกิน 4,200 บาท


ที่มา TNN

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :