หอการค้าไทย แนะรัฐทยอยปรับค่าแรง

สรุปข่าว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ว่า ค่าแรงขั้นต่ำมีประมาณเกือบ 10 ล้านคน ทั้งแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าว โดยภาระการขึ้นค่าแรงส่วนมาจะตกที่ SME และภาคการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น ดังนั้น ถ้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำพร้อมกันทั่วประเทศ แบบกระชาก ธุรกิจรับไม่ได้แน่นอน เพราะทำให้ธุรกิจมีกำไรน้อย และจะกลับไปเป็น NPL อีกครั้ง


นอกจากนี้ ถ้าปรับค่าแรงเท่ากันทั้งประเทศ จะเกิดการขาดแคลนแรงงานได้ทันทีในบางพื้นที่ที่มีค่าแรงเท่ากับจังหวัดอื่น และมีค่าครองชีพสูงกว่า ดังนั้น อาจจะทำให้เกิดการดึงแรงงานจากจังหวัดที่ไม่คึกคัก มาทำงานในจังหวัดที่คึกคัก ซึ่งอาจต้องจ่ายค่าแรงมากกว่า 400 บาท


ทั้งนี้ ภาคเอกชนเสนอว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำไม่ควรเท่ากันทั้งประเทศ และควรเป็นไปตามกลไกไตรภาคีจังหวัด และที่สำคัญถ้าต้องการผลักให้แรงงานมีค่าแรงสูงกว่า 400 บาท ควรจะมีการยกระดับการสอบเทียบมาตรฐานแรงงาน และกำหนดมาตรฐานแรงงาน เช่น คนที่ทำงานรับเหมาก่อสร้าง ถ้ามีทักษะแรงงานเมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ เวลาเอกชนจ่ายค่าจ้างจะรู้สึกว่าคล่องตัว และได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า


ในเบื้องต้นมุมมองของฝั่งวิชาการ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรสอดคล้องกับไตรภาคีจังหวัด ควรสอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด และควรคำนึงถึงกำลังจ่ายของผู้ประกอบการ เพราะนโยบายค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายเดียวของรัฐบาลที่ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินเลย ใช้เงินของเอกชนล้วนในการจ่าย และเป็นนโยบายที่เมื่อกำหนดค่าแรงขั้นต่ำกลายเป็นกฏหมายอาญา มีโทษทางกฏหมาย แต่ไม่ได้ใช้เงินภาษีประชาชน และไม่ได้เงินของรัฐบาล ดังนั้น การที่มีไตรภาคีคือการฟังเสียงของผู้จ่าย ไม่ใช่รัฐบาลจ่าย จึงต้องฟัง แต่ส่วนหนึ่งที่เอกชนเสนอว่า ถ้ารัฐบาลจะนำเงินงบประมาณแผ่นดินมาจ่ายส่วนต่าง เอกชนก็คงไม่ได้ว่าอะไร 


ดังนั้น ถ้าที่รัฐบาลเคยคิดว่าจะไปให้หักภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ เป็นค่าลดหย่อนก็สามารถทำได้ หรือลดการส่งเงินประกันสังคมแทนเอกชน


ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงเป็นเรื่องที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าขึ้นมากไปจะกลายเป็นภาระ  โดยหอการค้าไทย ประเมินว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ ต้นทุนทางเศรษฐกิจจะเพิ่มประมาณร้อยละ 6.8และผลักภาระไป 100% จะทำให้เงินเฟ้อบวกขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 3-4 อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเอกชนจะผลักภาระไปไม่มาก ร้อยละ 20-40 ซึ่งก็อาจดันเงินเฟ้อให้บวกขึ้นประมาณร้อยละ 1


ที่มา TNN

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :