คนไทยไม่ทานเนื้อสัตว์ 7.2 ล้านคนหนุนโปรตีนทางเลือก

สรุปข่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้มีการประเมินถึงธุรกิจโปรตีนทางเลือกจากนวัตกรรมอาหารใหม่ปี 2567 พบว่าตลาดโตต่อเนื่อง แต่ตลาดยังแข่งขันรุนแรง ทั้งจากกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่ผลิตในประเทศและนำเข้า รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบที่ผันผวน จึงยังเป็นความเสี่ยงของธุรกิจ 

ตลาดโปรตีนทางเลือกจากนวัตกรรมอาหารใหม่ปี 2567 มีมูลค่าถึง 9,700 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 3.2 จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผลิตภัณฑ์ในตลาดและช่องทางการขาย ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น โดยผู้บริโภคคุ้นเคยกับโปรตีนทางเลือกจากนวัตกรรมอาหารใหม่มากขึ้น หลังจากทำตลาดในไทยมากกว่า 5 ปี ปัจจุบันผู้บริโภคชาวไทยกว่า 7.2 ล้านคน ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ และกว่าร้อยละ 50 ของกลุ่มดังกล่าว อยู่ในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ ส่งผลให้คาดว่ายังเป็นพื้นที่ศักยภาพในการขยายตลาด เนื่องจากมีกำลังซื้อสูงกว่าภูมิภาคอื่น

การตอบรับโปรตีนทางเลือกจากนวัตกรรมอาหารใหม่ที่มีมากขึ้น ทำให้จำนวนผลิตภัณฑ์และช่องทางการขายเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจึงเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น หรือ Flexitarian และกลุ่มวีแกน

ถ้าไปการเติบโตของธุรกิจ พบว่า ตลาดโปรตีนทางเลือกจากนวัตกรรมอาหารใหม่ในกลุ่มเครื่องดื่มมีแนวโน้มเติบโตร้อยละ 6.1 จากราคาต่อหน่วยที่เข้าถึงง่ายและความนิยมในการประยุกต์เป็นส่วนผสมของเมนูเครื่องดื่มสำหรับคนรักสุขภาพ รวมถึงผู้แพ้นมวัว นมถั่วเหลือง น

ขณะที่กลุ่มอาหารในปีนี้คาดว่าโตเพียง ร้อยละ 1.4 แม้ผู้ประกอบการจะพยายามทำให้ระดับราคาต่อหน่วยไม่แตกต่างมากนักจากอาหารทั่วไป เช่น อาหารสำเร็จรูปที่ขายในร้านสะดวกซื้อ แต่มีหลายรายการที่ราคาต่อหน่วยยังสูง เช่น กลุ่มวัตถุดิบ (เนื้อบดจากพืช) อาหารพร้อมทาน (หมูปิ้งจากพืช) จึงทำให้ผู้บริโภคอาจไม่ได้เลือกซื้อในความถี่ที่มากนัก

 

ธุรกิจโปรตีนทางเลือกยังมีความเสี่ยงจากการแข่งขันรุนแรงใน 2 ประเด็น

1. การแข่งขันรุนแรงจากกลุ่มอาหารโปรตีนทางเลือกด้วยกันเอง ทั้งที่ผลิตได้ในประเทศและการนำเข้า ที่มาทำตลาดในไทยมากขึ้น ทั้งจากสิงคโปร์ จีน สหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่ม ส่งผลให้มีสินค้าในตลาดมากกว่า 100 แบรนด์ในไทย และกลุ่มอาหารทั่วไปที่มีหลากหลาย ทั้งระดับราคา ประเภทอาหารและแหล่งเลือกซื้อ ส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถปรับพฤติกรรมการบริโภคไปตามกำลังซื้อมีอยู่ในแต่ละช่วงเวลา โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ-ปานกลาง

2. ต้นทุนวัตถุดิบที่ยังผันผวนและมีแนวโน้มจะขยับสูงขึ้น โดยต้นทุนวัตถุดิบมีสัดส่วนราวร้อยละ 40-50 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวนอาจกระทบกับผลผลิตและราคา โดยเฉพาะถั่วเหลืองที่ส่วนใหญ่ยังพึ่งพาการนำเข้าเกือบทั้งหมด รวมถึงวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศยังไม่เพียงพอ อาทิ ถั่วเขียว เห็ดแครง

 

ก่อนหน้านี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ มีการนำเสนอผลการจัดทำภาพอนาคตสินค้าอาหารจากพืช (Plant-Based Food) ภายใต้โครงการจัดทำภาพอนาคตสินค้าเกษตรสำคัญของประเทศไทย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เพื่อชี้ให้เห็นถึงภาพอนาคตสินค้า Plant-Based Food ของไทย ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผนและออกแบบนโยบายได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

สินค้า Plant-Based Food มีแนวโน้มเติบโตเร็วทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศจึงน่าจะเป็นโอกาสส่งออกของไทย “ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า ในช่วงปี 2562 – 2567 มูลค่าตลาด Plant-Based Food ทั่วโลก มีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ร้อยละ 10.5 และในปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ”

 

สำหรับประเทศไทย Krungthai Compass คาดการณ์ว่า ในปี 2567 จะมีมูลค่า 45,000 ล้านบาท มีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 10 ใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตของตลาดโลก โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค ที่ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และจริยธรรมที่มีต่อสัตว์มากขึ้น อีกทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐที่ส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต ประกอบกับในโลกยุคดิจิทัลที่การสื่อสารสะดวกรวดเร็ว เพิ่มการรับรู้และยอมรับสินค้าชนิดใหม่ ๆ 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยขับเคลื่อนอื่น ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสินค้า Plant-Based Food อาทิ จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารที่ก้าวหน้า

จากการศึกษา พบว่า ภาพอนาคตสินค้า Plant-Based Food ของไทย มีหลายฉากทัศน์ซึ่งฉากทัศน์ของอนาคตที่เป็นไปได้ (Probable Future) เช่น ไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารเพื่อสุขภาพของโลก เป็นแหล่งเพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์ มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตร รวมทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิต Plant-Based Food ที่ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ เพื่อยกระดับและสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีอนาคตทางเลือก (Alternative Future) อีก 3 ฉากทัศน์ ได้แก่ 

1. ฉากทัศน์ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเทศกาล วัฒนธรรม และเกษตรยั่งยืน คือ การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเทศกาล วัฒนธรรม และเกษตรที่มีสิ่งแวดล้อมยั่งยืน โดยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของ Plant-Based Food ผ่านการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

2. ฉากทัศน์ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ คือ ไทยเป็นแหล่งของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งในประเทศไทยเติบโตและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง สามารถต่อยอดไปสู่การส่งออกไปยังต่างประเทศ

3. ฉากทัศน์ของสินค้าอาหารแปรรูป Plant-Based Food ซึ่งเป็นภาพอนาคตที่ไทยมีความสมบูรณ์และยั่งยืน มีภาคการเกษตรที่ทันสมัย รองรับความต้องการ Plant-Based Food ที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก ตอบสนองต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค

อุตสาหกรรมอาหาร Plant-Based Food ไทย ยังคงต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งด้านการผลิตและแปรรูป ด้านการตลาด ด้านการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านฐานข้อมูล ด้านการลงทุน และด้านกฎหมาย เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการค้าสินค้าเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของไทย และเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางอาหาร Plant-Based Food ที่สำคัญของโลก

 

 

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

business watch
โปรตีนทางเลือก
ไม่นานเนื้อสัตว์
plant-based food
อาหารจากพืช