สรุปข่าว
สหรัฐฯ ถือเป็นในประเทศที่ผลิตและเป็นตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ของโลก ซึ่งนโยบายเกี่ยวข้องกับรถยนต์ของสหรัฐฯ จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในระยะข้างหน้าว่าจะเดินต่อไปในทิศทางไหน
เมื่อช่วงปลายปี 2567 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ทีมงานเปลี่ยนถ่ายของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้มีการเสนอแผนนโยบายยุทธศาสตร์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถ EV ในสหรัฐฯ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ได้อ้างอิงเอกสารที่ได้รับจากแหล่งข่าวที่ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ใดมาก่อน ซึ่งในเนื้อหาของแผนนโยบายดังกล่าวนั้นพบว่าทรัมป์จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของอุตสาหกรรมรถ EV ของรัฐบาลไบเดนอย่างสิ้นเชิง
นโยบายทรัมป์ที่จะประกาศออกมา สรุปได้ดังนี้
- เสนอให้มีการตัดงบอุดหนุนเงินเครดิตภาษีสำหรับผู้ซื้อรถ EV เป็นเงิน 7,500 เหรียญสหรัฐ และเพิ่มมาตรการความแข็งแกร่ง เพื่อการสกัดกั้นรถ EV จากจีน รวมทั้งอุปกรณ์ชิ้นส่วน แร่ธาตุ และแบตเตอรี่ที่นำเข้าจากจีน
-ให้มีการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าแบตเตอรี่จากทั่วโลก เพื่อเป็นการสนับสนุน และกระตุ้นภาคการผลิตในสหรัฐฯ แต่ให้มีการยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าเป็นรายประเทศที่มีการเจรจากับสหรัฐฯ
-ให้ความสำคัญด้านงบการป้องกันประเทศ โดยผันงบการสร้างสถานีชาร์จจากแหล่งเงินกองทุนมูลค่า 7,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้รัฐบาลไบเดนที่ยังคงเหลืออยู่ ไปเป็นงบโครงการการผลิตแร่ธาตุแบตเตอรี่ สำหรับห่วงโซ่อุปทานและโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ที่เน้นจุดอ่อนทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับจีนที่เป็นผู้ครองตลาดเหมืองแร่ และการแปรรูปแร่ธาตุที่สำคัญ รวมทั้งแร่แกรไฟต์และแร่ลิเธียมที่เป็นวัตถุดิบสำคัญต่อการผลิตแบตเตอรี่ รวมโลหะที่หายากเพื่อการผลิตมอเตอร์สำหรับรถ EV และเครื่องบินทหาร ซึ่งทีมงานเปลี่ยนถ่ายได้เน้นว่า แบตเตอรี่ และแร่ธาตุ ล้วนมีความสำคัญและเป็นผลประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ในการผลิตรถ EV
-เสนอให้มีการใช้มาตรการภาษี 232 ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าห่วงโซ่อุปทานรถ EV รวมทั้งแบตเตอรี่ แร่ธาตุที่สำคัญและส่วนประกอบของเครื่องชาร์จรถ EV โดยมีเป้าหมายเพื่อความมั่นคงของสหรัฐฯ เป็นหลัก ตรงนี้น่าจะช่วยจำกัดการนำเข้าสินค้าจากจีน แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลไบเดนได้มีมาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าหลายรายการจากจีนไปแล้วก็ตาม แต่ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ 2.0 ทีมงานเปลี่ยนถ่ายได้มีการเสนอขึ้นภาษีเพิ่มเพื่อให้ครอบคลุมสินค้าแบตเตอรี่ แร่ลิเทียม แร่แกรฟไฟต์ และชิ้นแม่เหล็กถาวรที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตมอเตอร์รถ EV และที่เกี่ยวข้องกับการทหาร
นอกจากนี้ยังมีการรื้อนโยบายอีวีที่รัฐบาลไบเดนทำไว้ เช่น
- เสนอให้มีการละเว้นการพิจารณาทบทวนข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นการเร่งดำเนินการผันเงินกองทุนของรัฐบาลกลางเพื่อไปใช้ในการดำเนินโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งการผลิตและการรีไซเคิลแบตเตอรี่
-เสนอให้มีการแก้ไขมาตรฐานระดับการปล่อยไอเสียของเครื่องยนต์ โดยให้ย้อนกลับไปใช้ระดับมาตรฐานของปี 2562 ที่อนุญาตให้รถแต่ละคันปล่อยไอเสียในระดับโดยเฉลี่ยร้อยละ 25 ต่อไมล์ เมื่อเทียบกับข้อกำหนดของปี 2568 ที่การปล่อยไอเสียอยู่ในระดับต่ำกว่าโดยเฉลี่ยร้อยละ 15
-เสนอให้มีการปิดกั้นกฎระเบียบท้องถิ่นของรัฐแคลิฟฟอร์เนียที่เข้มงวดต่อระดับการปล่อยไอเสียของเครื่องยนต์ ซึ่งมีรัฐอื่นๆ อีกหลายรัฐนำไปปฏิบัติใช้เช่นกัน แต่ในสมัยรัฐบาลทรัมป์ 1.0 ได้ทำการปิดกั้นกฎระเบียบดังกล่าว แต่เปลี่ยนกลับไปใช้แบบเดิมในสมัยรัฐบาลไบเดน นอกจากนี้รัฐแคลิฟฟอร์เนียได้มีการยื่นขอสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา หรือ EPA ในการบังคับใช้ข้อกำหนดในปี 2569 โดยให้รถยนต์ทุกชนิดในรัฐแคลิฟฟอร์เนียเป็นรถ EV หรือรถพลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน (Plug-in Hybrid) หรือรถไฮโดรเจน ซึ่งทางสำนักงาน EPA ในสมัยรัฐบาลไบเดนไม่ได้ทำการอนุมัติตามคำร้องขอของรัฐแคลิฟฟอร์เนียแต่อย่างไร
-นอกจากนี้ยังมีการเข้มงวดต่อการส่งออกแบตเตอรี่รถอีวี ด้วยการขยายข้อกำหนดต่างๆ ในการส่งออกเทคโนโลยีแบเตอรี่ไปยังประเทศที่มิใช่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ โดยจะสนับสนุนภาคการส่งออกแบตเตอรี่รถ EV ที่ผลิตในสหรัฐ โดยการสนับสนุนผ่านธนาคารการส่งออก/นำเข้าของสหรัฐฯ
-ให้ใช้มาตรการการจัดเก็บภาษีนำเข้า ซึ่งจัดเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองในการเปิดตลาดส่งออกรถยนต์ของสหรัฐฯ ไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ รวมทั้งรถ EV
- ให้ยกเลิกข้อกำหนดในการจัดซื้อรถ EV เพื่อการใช้งานของหน่วยงานรัฐบาลกลาง สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลไบเดนที่กำหนดให้ทุกหน่วยงานของรัฐบาลกลางใช้รถยนต์นั่งและรถบรรทุกขนาดเล็กที่ไร้มลพิษภายในปี 2570
- ให้ยุติโครงการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในการซื้อหรือการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าทางทหาร
มีการประเมินว่าหากมีการดำเนินการตามแผนนโยบายของทีมงานเปลี่ยนถ่ายของทรัมป์ ด้วยการตัดงบอุดหนุนเครดิตภาษีสำหรับผู้ซื้อรถ EV เป็นเงิน 7,500 เหรียญสหรัฐ จะมีผลกระทบต่อยอดขายรถ EV โดยรวมในตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะผู้ประกอบการค่ายรถ General Motors ของสหรัฐฯ และ Hyundai จากเกาหลีใต้ ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงเนื่องจากเพิ่งมีการเปิดตัวรถ EV ในตลาดสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้ รวมทั้งค่ายรถ Tesla ที่ครองตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ น่าจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ นโยบายการฟื้นฟูสนับสนุนพลังงานฟอสซิลของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ทำให้ค่ายรถยนต์หลายค่าย ไม่ว่าจะเป็น Volvo Ford และ Toyota หันมาตอบสนนองนโยบายดังกล่าว โดยหลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่า ทรัมป์ อาจจะถอนสหรัฐฯ ออกจาก “ความตกลงปารีส” ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ให้การสนับสนุนพลังงานสะอาด ตรงนี้เท่ากับว่า นโยบายสนับสนุนเรื่องอีวี ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องพลังงานสะอาดของสหรัฐฯ อาจจะต้องชะลอออกไปในสมัยรัฐบาลทรัมป์ 2.0
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี ของไทย มีการประเมินว่า จากนโยบาของทรัมป์ในเรื่องรถอีวี ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐฯ ที่จะเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ โดยมีปัจจัยสำคัญอย่างภาษีศุลกากร เครดิตภาษี และกฎระเบียบการปล่อยมลพิษที่ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนให้กับนักลงทุนแทบไม่เคยพบเห็นมาก่อน
สิ่งที่จะกระทบอย่างชัดเจนคือราคารถยนต์ โดยเฉพาะรถEV อาจเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่ทรัมป์จะประกาศขึ้นภาษีศุลกากรร้อยละ 25 สำหรับการนำเข้ารถยนต์จากแคนาดาและเม็กซิโก และเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ซึ่งจีนถือเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์พลังไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลก
การเพิ่มภาษีในเขตอเมริกาเหนือ น่าจะมีผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯ เนื่องจากในแต่ละปี สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาการนำเข้ารถยนต์จากแคนาดาและเม็กซิโกถึง 3-4 ล้านคัน ซึ่งทั้งสองประเทศยังเป็นแหล่งนำเข้าอะไหล่สำคัญที่คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 55 ของอะไหล่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ในสหรัฐฯ
มีการประเมินว่าในอนาคตข้างหน้า ราคาของรถยนต์ทุกรุ่นในสหรัฐฯ จะสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยานยนต์พลังไฟฟ้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด แม้ว่าการคำนวณผลกระทบทั้งหมดจะมีความซับซ้อนและยังไม่แน่นอน แต่จากการประเมินของ Barron’s ราคาขายเฉลี่ยของรถยนต์สันดาปอาจเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยของยานยนต์พลังไฟฟ้าอาจเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 12”
ด้าน เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า การหาซื้อรถยนต์ราคาเอื้อมถึงในสหรัฐฯ กลายเป็นเรื่องท้าทายของชาวอเมริกันจำนวนมากที่มีงบประมาณจำกัด เนื่องจากการจัดเก็บภาษีนำเข้ายานยนต์ที่ผลิตในเม็กซิโกในอัตราใหม่จะเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้เลวร้ายกว่าเดิม
เอ็ดมันด์ส (Edmunds) เว็บไซต์ซื้อขายรถยนต์ของสหรัฐฯ วิเคราะห์ว่าเกือบหนึ่งในสามของยานยนต์ทั้งหมดที่มีราคาต่ำกว่า 30,000 เหรียญสหรัฐ (หรือคันละประมาณ 1 ล้านบาท) ที่จำหน่ายในสหรัฐฯ นั้นผลิตในเม็กซิโก เช่น นิสสัน เซนตรา (Nissan Sentra) ฟอร์ด เมเวอริกค์ (Ford Maverick)
เม็กซิโกถือเป็นผู้ผลิตยานยนต์ราคาเอื้อมถึงได้ที่จำหน่ายในสหรัฐฯ และทำให้เม็กซิโกเป็นจุดหมายที่บรรดาผู้ผลิตยานยนต์นึกถึง หากต้องการควบคุมต้นทุนการผลิตยานยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์รุ่นเล็กที่จำหน่ายในราคาต่ำกว่าและทำกำไรน้อยกว่ารถยนต์รุ่นใหญ่กว่าอย่างรถบรรทุกและรถเอสยูวี (SUV) ขนาดใหญ่
เมื่อเดือนพฤศจิกายน โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า จะเก็บภาษีนำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดาราวร้อยละ 25 ซึ่งอาจหมายถึงการล้มเลิกข้อตกลงการค้าเสรีที่เขาเคยเจรจาตอนดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรก
นักวิเคราะห์และตัวแทนจำหน่ายยานยนต์มองว่า ต้นทุนที่เกี่ยวพันกับการจัดเก็บภาษีนำเข้าอัตราใหม่จะถูกส่งต่อไปยังคนซื้อในสหรัฐฯ จึงทำให้ราคาขายต้องปรับขึ้น ดังนั้นถ้าการเก็บภาษีจากเม็กซิโกเกิดขึ้นจริง ผู้ซื้อรถยนต์ในสหรัฐฯ ต้องทำใจไปเลยว่า ราคารถยนต์แพงขึ้นอย่างแน่นอน
หลังจากนี้คงต้องรอว่า เมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าจะมีการประกาศนโยบายเรื่องรถยนต์และนโยบายรถอีวีออกมาอย่างไร
ปัจจุบัน ชาวอเมริกันซื้อรถอีวีประมาณ 946,000 คันต่อปี โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 8 ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมด ผู้บริโภคมักตอบสนองต่อราคาที่เพิ่มขึ้นด้วยการซื้อน้อยลง
สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล สหรัฐฯ มีการผลิตเทียบเป็นร้อยละ 2.6 ของจำนวนที่ผลิตทั่วโลก โดยสหรัฐฯ เป็นทั้งผู้นำเข้าและส่งออก โดยมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกยานยนต์ เครื่องยนต์และอะไหล่รวมมูลค่า 1.84 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (หนึ่งล้านแปดแสนสี่หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) และส่งออก 7.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
สหรัฐฯ มียอดขายยานยนต์ใหม่ปีละกว่า 13 ล้านคัน ส่วนรถเก่ามีจำนวนเกือบ 39 ล้านคัน รวมแล้วมีมากถึง 52 ล้านคันทั่วประเทศ ซึ่งรถกระบะ Ford F-Series ครองยอดขายอันดับหนึ่งในการขายยานยนต์ทุกชนิดมานานถึง 42 ปีสะท้อนให้เห็นว่ารถกระบะเป็นยานยนต์ยอดที่มียอดขายสูงที่สุดของสหรัฐฯ รองลงมา ได้แก่รถยนต์อเนกประสงค์ Crossover , รถซีดานขนาดกลาง, รถ SUV ขนาดกลาง, รถขนาดเล็ก (Compact), รถมินิแวนและรถ SUV ขนาดใหญ่ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังพบว่า มีเพียง 3 รัฐ คือ แคลิฟอร์เนีย เท็กซัสและฟลอริดาเท่านั้นที่มีการขายรถใหม่เกินกว่า 1 ล้านคันต่อปี และทั้ง 3 รัฐนี้ก็ยังครองสถิติจำนวนยานยนต์ที่มีการจดทะเบียนใช้งานมากที่สุดในสหรัฐฯ อีกด้วย ดังนั้นการปิดกั้นนโยบายของอีวีของแคลิฟอเนียของทรัมป์ ย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อนโยบายรถยนต์ในภาพรวม
ความกังวลต่อนโยบายทรัมป์ของผู้บริโภคในสหรัฐ สะท้อนออกมาในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดย เดอะ วอชิงตัน โพสต์ (The Washington Post) รายงานว่า ชาวอเมริกันกำลังเร่งซื้อรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้านำเข้าราคาแพงอื่นๆ ก่อนหน้าการเข้ามาของคณะรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ที่คาดว่าจะมีการสั่งขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งมหกรรมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยดังกล่าวอาจจุดชนวนให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออีกครั้ง
ชาวอเมริกันใช้จ่ายเงินไปกับยานพาหนะและชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้น 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.25 แสนล้านบาท) ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ขณะที่การใช้จ่ายด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายนเช่นกัน ซึ่งบรรดานักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่า เป็นผลจากการซ่อมแซมความเสียหายจากพายุเฮอริเคนเฮเลน และครัวเรือนที่เตรียมรับมือภาษีศุลกากรใหม่ จึงทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น
แม้จะยังคงไม่ชัดเจนว่าความต้องการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นแรงผลักดันให้ราคาสูงขึ้นหรือไม่ แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนระบุว่ายังคงเป็นที่น่าจับตาว่าทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ใหม่นั้นมีราคาแพงขึ้น แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในภาคส่วนอื่นๆ จะผ่อนคลายลงก็ตาม
ที่มาข้อมูล : -