“สถานการณ์ความยากจน” ปรับตัวดีขึ้น แต่คนไทยยังจนกระจาย 2.3 ล้านคน

“สถานการณ์ความยากจน” ปรับตัวดีขึ้น แต่คนไทยยังจนกระจาย 2.3 ล้านคน

สรุปข่าว

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจน และความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566 พบว่า สถานการณ์ความยากจนของประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 


จำนวน "คนจนไทย" ลดลง จาก 3.7 ล้านคน ในปี 2565 มาอยู่ที่ 2.39 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจนร้อยละ 3.41 ลดลงจากปีที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ร้อยละ 5.43


ทั้งนี้แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์ความยากจนในปี 2566 เป็นผลมาจากการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีสัดส่วนแรงงานยากจนสูงที่สุด ประกอบกับโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ที่เป็นการลงทะเบียนรอบใหม่ ที่เปิดโอกาสให้คนจนโดยเฉพาะผู้ที่เคยตกหล่นจากการลงทะเบียนรอบก่อนหน้า สามารถเข้าถึงบริการและสวัสดิการต่าง ๆ ของภาครัฐมากขึ้น 


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ความยากจนจะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่กลุ่มคนเปราะบางต่อความยากจนยังคงต้อง ให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการกลายเป็นคนจน เพราะมีระดับความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับเส้นความยากจน 


รวมทั้งต้องเผชิญกับปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากความเสี่ยงได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อมภายในครัวเรือน การประกอบอาชีพ และการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน 


ขณะที่มิติทางด้านพื้นที่ ภาคใต้ยังเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง 


สำหรับความยากจนหลายมิติของประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมิติที่ส่งผลต่อความยากจนหลายมิติมากที่สุด คือ ความเป็นอยู่ที่ร้อยละ 35.79 การศึกษามีผลต่อความยากจนหลายมิติน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 15.19


นอกจากนี้ แนวโน้มสถานการณ์ความยากจน ทั้งที่เป็นตัวเงิน และไม่ใช่ตัวเงินของจังหวัดส่วนใหญ่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เช่น กาฬสินธุ์ พะเยา ศรีสะเกษ นครราชสีมา นครสวรรค์ เป็นต้น อยู่ในกลุ่มที่มีการพัฒนา ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ ลพบุรี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก และมุกดาหาร มีแนวโน้มความยากจนเพิ่มขึ้น



ภาพจาก: Getty Images 

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

สถานการณ์ความยากจน
ยากจน
กลุ่มคนจน
ตัวเลขความยากจน
สศช