สรุปข่าว
ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 แห่งที่รายงานผลประกอบการงวดไตรมาสที่ 3 ผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่ามีกำไรสุทธิรวมกัน 63,585 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.91 จากกำไรสุทธิ 59,473 ล้านบาทที่ทำได้ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนภาพรวมผลประกอบการงวด 9 เดือน ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 แห่ง มีกำไรสุทธิรวมกัน 190,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.75 จากกำไรสุทธิ 181,392 ล้านบาทในงวด 9 เดือนของปีก่อน
โดยในรายละเอียดของ 3 ธนาคารใหญ่ที่แจ้งงบ อย่างกสิกรไทย (KBANK) รายงานผลประกอบการงวด 9 เดือน ด้วยกำไรสุทธิ 38,104 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.41 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนงวดไตรมาสที่ 3 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 11,965 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากกำไรสุทธิ 11,282 ล้านบาทที่ทำได้ในงวดเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงร้อยละ 5.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หลัก ๆ เกิดจากการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย
ในส่วนของการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ในงวดไตรมาส 3 มีจำนวนทั้งสิ้น 11,652 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน และเป็นไปตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สำรองฯ อยู่ในระดับที่เหมาะสม สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน และรองรับความไม่แน่นอนของปัจจัยต่าง ๆ รวมถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ
ขณะที่ "เอสซีบี เอกซ์" ยานแม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 3 จำนวน 10,941 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนงวด 9 เดือน มีกำไรสุทธิจำนวน 32,236 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยในไตรมาสที่ 3 ธนาคารไทยพาณิชย์ มีการตั้งเงินสำรองลดลงร้อยละ 10.4 จากปีก่อน เนื่องจากไตรมาสนี้ ไม่มีการตั้งสำรองพิเศษเพื่อรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 1.63 เท่า ส่วนคุณภาพของสินเชื่อโดยรวมอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดี โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนกันยายน อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.3 ในปีก่อน
ด้านธนาคารกรุงไทย รายงานกำไรไตรมาส 3 ด้วยกำไรสุทธิ 11,107 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับงวดเดียวดันของปีก่อน ส่วนผลประกอบการในช่วง 9 เดือน มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 33,381 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 ธนาคารได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ในระดับที่เหมาะสมใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ รวมถึงความท้าทายจากการขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างไม่ทั่วถึง
และอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญที่เกิดขึ้น คือการทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของบรรดาธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นดำเนินนโยบายตามมติของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 หรือปรับจากร้อยละ 2.50 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี
เริ่มที่ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่ตอบรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสูงสุดร้อยละ 0.25 เพื่อช่วยดูแลและเพิ่มสภาพคล่อง โดยการแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการรายเล็ก ที่รายได้ยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว และภาระหนี้ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งยังเป็นการช่วยพยุงและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
โดยการลดดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าว ให้มีผลในวันที่ 1 พ.ย. 67 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังไม่มีการปรับลดแต่อย่างใด
ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุดร้อยละ 0.25 ต่อปี ให้สอดคล้องกับทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 67 เป็นต้นไป
คุณกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวย้ำว่าโดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวไม่สูงนัก ซึ่งใกล้เคียงกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินไว้ และอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในสิ้นปี ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. ธนาคารไทยพาณิชย์จึงได้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุดที่ร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ของลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการภาคธุรกิจ
ที่มาข้อมูล : -