สรุปข่าว
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน เปิดเผยว่า วันนี้ จะประชุมคณะกรรมการศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) นัดแรก โดยจะมีการพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายขึ้นมา ดำเนินการยกร่างกฎหมายขึ้นมา เพื่อสร้างแรงดึงดูดธุรกิจทางการเงินให้มาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งในรายละเอียดกฎหมาย จะมีทั้งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งภาษีเงินได้บุคคล ภาษีนิติบุคคล และ สิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี ทั้งสินเชื่อ และ เงินอุดหนุน รวมถึงการตรวจลงตรา การเข้าเมือง วีซ่า สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ
ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ดังกล่าว จะทำเป็นแพ็กเกจ ครอบคลุม 4-5 ธุรกิจเป้าหมาย คือ ธุรกิจการเงิน (ไฟแนนซ์) ธุรกิจ Securities (มากกว่าหลักทรัพย์) ธุรกิจประกัน ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และ ธุรกิจสัญญาล่วงหน้า (Forward contract) โดยจะมีคณะกรรมการพิจารณาให้ใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) จะมีการดึงต่างชาติ 5 ธุรกิจเข้ามา ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย แต่ไม่ทำธุรกิจแข่งกับแบงก์ไทย ต้องทำธุรกิจแข่งกับต่างประเทศ หรือ ลูกค้าที่เป็น non-resident เพื่อไม่ให้แข่งกับแบงก์ไทย เพราะเราก็ไม่อยากให้แบงก์ไทยกระทบ แต่ขณะเดียวกัน เราก็อยากดึงเม็ดเงินตรงนี้เข้ามา สิ่งที่เราอยากได้ คือ Head Quarter ซึ่งแบงก์ไทยก็สามารถขอไลเซ่นส์ตรงนี้ได้ด้วย ถ้าทำธุรกิจกับต่างชาติ
ทั้งนี้ เมื่อกฎหมายยกร่างเสร็จจะเสนอ รมว.คลัง พิจารณาก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งก็ต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี
เราอยากเห็นไทย เป็นเหมือนสิงคโปร์ เห็นไทยเป็นเหมือนดูไบ ในเรื่องของศูนย์กลางการเงิน อยากเห็นบริษัททางการเงินต่าง ๆ แบงก์ใหญ่ต่าง ๆ มาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย อยากให้เงินถูกดูดเข้ามา แล้วผ่านออกไป มีการจับจ่ายใช้สอยเกิดขึ้น โดยเม็ดเงินเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้น ดังนั้น ถ้าเราดึงแชร์บางส่วนจากสิงคโปร์ จากดูไบมาได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี
ที่มา TNN
ที่มาข้อมูล : -