

สรุปข่าว
การก่อสร้างโครงสร้างพืันฐานขนาดใหญ่ จำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดิน และรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคที่กีดขวางเขตแนวก่อสร้าง จนทำให้เกิดสารพัดปัญหาตามมา ส่งผลให้งานก่อสร้างล่าช้า บางครั้งต้องขยายเวลาก่อสร้าง หรือเพิ่มงบประมาณโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ควรจะขจัดจุดอ่อนเหล่านี้ออกไป
โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ –อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร มีพื้นที่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยหรือรฟท. ต้องส่งมอบตลอดเส้นทางทั้งหมด 4,421 ไร่ แต่รฟท.ระบุความพร้อมการส่งมอบพื้นที่ให้ได้ทันทีเพียง 3,151 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลือจะส่งมอบได้ภายใน 2 ปี ซึ่งร.ฟ.ท.ต้องเคลียร์ปัญหาผู้บุกรุก 513 ราย จำนวนพื้นที่ 210 ไร่ ขณะที่พื้นที่อีก 210 ไร่ มีสัญญาเช่าจำนวน 83 ราย รวมทั้งต้องออกพระราชกฤษฎีกา เวนคืนที่ดินเพิ่มเติมอีก 850 ไร่
ปัญหาความไม่พร้อมในการส่งมอบพื้นที่ได้ทั้งหมด จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหารือระหว่าง ร.ฟ.ท. กับภาคเอกชน โดยมีข้อสรุปว่าทั้ง 2 ฝ่ายยอมเซ็นสัญญาไปก่อน แต่จะกำหนดรายละเอียดการส่งมอบพื้นที่ไว้แนบท้ายสัญญา และทั้ง 2ฝ่ายจะลงพื้นที่เคลียร์ปัญหาให้เสร็จก่อนการก่อสร้าง โดยร.ฟ.ท.จะออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง หรือ NTP ซึ่งหมายถึงจุดต้นให้เอกชนลงมือก่อสร้างได้ และเริ่มนับเวลาตามสัญญา 5 ปี แนวทางดังกล่าวเป็นการป้องกันภาครัฐไม่ให้ถูกฟ้องร้อง หรือเกิดข้อพิพาท เสียค่าโง่อีกกรณีโครงการล่าช้า เพราะปัญหาการส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ ซึ่งในอดีตภาครัฐจะนับเวลาเริ่มต้นก่อสร้างทันที หลังจากเซ็นสัญญา
และไม่ใช่แค่ปัญหาการส่งมอบพื้นที่ แต่ภาคเอกชนยังต้องรื้อถอนสาธารณูปโภคตลอดแนวก่อสร้าง อาทิ รื้อถอนเสาโครงการโฮป เวลล์ 200 ต้น ย้ายท่อน้ำมัน ท่อก๊าซบริเวณดอนเมือง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เห็นได้จากการรื้อย้ายสาธารณูปโภคของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ดอนเมือง ที่มีปัญหารื้อถอนเป็นเวลานาน จนต้องขยายเวลาก่อสร้างจากเดิมตั้งเป้าไว้ 4 ปี ขยายเป็น 6 ปี และต้องเพิ่มงบประมาณอีก 5 ครั้ง จนราคาก่อสร้างขยับเป็น 104,222 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากเดิม 59,888 ล้านบาท ดังนั้น หากนำบทเรียนจากโครงการอื่นๆ มาเทียบเคียง ภาคเอกชนที่ดำเนินโครงการ จำเป็นต้องเตรียมแผนรับมือปัญหาที่จะมีมาอย่างแน่นอน
ที่มาข้อมูล : -