

สรุปข่าว
น.ส.เบญจมา มาอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มทิศทางทองคำขึ้นกับปฏิกิริยาการตอบสนองของราคาทองคำต่อผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดจะส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินในเชิง Hawkish มากกว่าคาด หรือ น้อยกว่าคาด เนื่องจากผลการประชุมเฟดยังคงส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำได้ทั้งทิศทางบวกและทิศทางลบ ทำให้ YLG แบ่ง Scenario ที่เกิดขึ้นได้เป็น 3 Scenarios ดังนี้
1.หากเฟดส่งสัญญาณในเชิง Hawkish มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้โดยเฟดขึ้นดอกเบี้ยในเดือนพ.ค.0.50% ตามคาด และเฟดส่งสัญญาณ "เปิดทาง"สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ0.75% หากมีความจำเป็นและมีกังวลต่อประเด็นเงินเฟ้อ มากกว่า ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ
รวมถึงประกาศปรับลดขนาดงบดุลลงเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์โดยให้ "มีผลทันที" พร้อมส่งสัญญาณ "เพิ่มวงเงิน" การปรับลดงบดุลในอนาคต "หากจำเป็น" จะเป็นปัจจัยหนุนสกุลเงินดอลลาร์ให้แข็งค่า ซึ่งจะส่งผลเชิงลบต่อราคาทองคำได้
2.ในทางกลับกัน หากเฟดส่งสัญญาณในเชิง Hawkish น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้โดยขึ้นดอกเบี้ยในเดือนพ.ค.0.50% ตามคาด และส่งสัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.75% นั้นยัง "ไม่มีความจำเป็น" และมองว่าเป็นการดำเนินการที่ "มากเกินไป"
นอกจากนี้มีกังวลต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ มากกว่า ประเด็นเงินเฟ้อ และเฟดยังไม่ประกาศปรับลดขนาดงบตุล ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่ล่าช้ากว่าการคาดการณ์ส่วนใหญ่ของตลาด จะเป็นปัจจัยกระตุ้นแรงซื้อทองคำ
3.ถ้าหากผลการประชุมเฟดสอดคล้องกับการคาดการณ์ขึ้นดอกเบี้ย0.5% ตามคาด ประกาศปรับลดขนาดงบดุลลงเดือนละ 9.5 หมื่นล้านตอลลาร์ อาจส่งผลให้ราคาทองคำเกิดแรงซื้อ Buy the Fact หลังจากราคาทองคำ Price in ผลการประชุมเฟดไปบางส่วนแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาทองคำในปัจจุบันมีการปรับตัวลงในลักษณะของการปรับฐาน โดยมีแนวรับแรกบริเวณ 1,891-1,877 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งระดับต่ำสุดของเดือนมี.ค. และเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน และมีแนวรับสำคัญระดับถัดไปซึ่งเป็นกรอบ Uptrend Line สีน้ำเงิน และบริเวณเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน(เส้นสีแดง)ซึ่งอยู่ที่ 1,833-1,824 ดอลลาร์ต่อออนซ์
แต่ตราบใดที่ราคายังยืนเหนือแนวรับสำคัญดังกล่าวได้ ยังมองว่าราคาทองคำยังคงรักษาระดับอยู่ในทิศทางขาขึ้นต่อไป และยังมีโอกาสทดสอบกรอบบนได้ โดยมีแนวต้านแรกในบริเวณ 1,998-1,956 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และมีเป้าหมายของปีที่ 2,075-2,069 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ทั้งนี้หากราคาหลุดกรอบ Uptrend Line สีน้ำเงิน และบริเวณเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน(เส้นสีแดง)ซึ่งอยู่ที่ 1,833-1,824 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จะทำให้มุมมองเชิงบวกลดลง และราคามีแนวโน้มจะลงไปสร้างฐานบริเวณแนวรับสำคัญ และเป็นฐานของราคาทองคำในปี 2021 บริเวณ 1,676-1,630 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง
สำหรับผู้ที่มีทองคำในมือเป็นจำนวนมาก แนะนำให้ลดสถานะการถือครองทองคำบางส่วน ด้วยการขายทำกำไรระยะสั้นเมื่อราคาปรับตัวขึ้นไม่ผ่านแนวต้านบริเวณ 1,956-1,932 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แล้วรอการอ่อนตัวลงของราคาจึงกลับเข้าซื้อบริเวณแนวรับด้านล่าง
สำหรับผู้ที่ไม่มีทองคำอยู่ในมือ –การอ่อนตัวลงของราคายังเป็นโอกาสทยอยซื้อเพื่อทำกำไรจากการดีดตัวระยะสั้น โดยระมัดระวังการไล่ซื้อ
อย่างไรก็ตามประเมินว่าการปรับตัวลงของราคาทองคำยังคงเป็นโอกาสในการเข้าซื้อเช่นเดิม แต่แนะนำให้แบ่งไม้เข้าซื้อ โดยไม่เข้าซื้อที่แนวรับใดแนวรับหนึ่งเต็ม 100% ของพอร์ต
แนะนำเข้าซื้อไม้แรก หากราคาทองคำหากสามารถยืนเหนือแนวรับบริเวณ 1,891-1,877 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากราคาหลุดแนวรับบริเวณ 1,877 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ควร ชะลอ การเข้าซื้อออกไปยังแนวรับสำคัญระดับถัดไปซึ่งเป็นกรอบ Uptrend Line สีน้ำเงิน และบริเวณเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน(เส้นสีแดง) ซึ่งอยู่ที่ 1,833-1,824 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ที่มา น.ส.เบญจมา มาอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท วายแอลจี
ภาพประกอบ วายแอลจี
ที่มาข้อมูล : -