
เปิดประวัติ “ยุน ซ็อก-ย็อล” จากผู้นำสายแข็งจากเกาหลีใต้ ดำดิ่งสู่การถูกถอดถอนตำแหน่งประธานาธิบดี หลังเผชิญเรื่องอื้อฉาวไม่หยุด จนถึงขั้นประกาศใช้กฎอัยการศึก
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ได้มีคำตัดสินแล้วว่า ถอดถอน “ยุน ซ็อก-ย็อล” จากประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กรณีการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อปลายปี 2024 จนทำให้เกาหลีใต้จมดิ่งสู่วิกฤตการณ์ทางการเมือง
แล้วผู้นำสายแข็งกร้าว จากพรรคฝ่ายขวา อย่าง “ยุน ซ็อก-ย็อล” เป็นใครกัน
อดีตอัยการสูงสุด ผู้ปราบคดีทุจริต
ยุน ซ็อก-ย็อล เกิดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 1960 ซึ่งเป็นช่วงที่เกาหลีใต้กำลังตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหาร
พ่อของเขาเป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ส่วนแม่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสตรีแห่งหนึ่งก่อนจะลาออกมาแต่งงานกับพ่อของเขา
เมื่อโตขึ้น เขาตัดสินใจศึกษาต่อด้านกฎหมาย และเริ่มต้นอาชีพอัยการ หลังสำเร็จการศึกษา ก่อนจะไต่เต้าขึ้นมาเป็นอัยการสูงสุดในปี 2019
ระหว่างนั้น เขาได้ทำการสอบสวนรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ณ ขณะนั้น จากเรื่องอื้อฉาวต่าง ๆ และก็เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินคดี “พัค กึน-ฮเย” อดีตประธานธิบดีหญิงเกาหลีใต้ ที่เผชิญข้อหาการทุจริต

สรุปข่าว
มุ่งหน้าสู่เส้นทางประธานาธิบดี
เมื่อดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดครบ 5 ปี ในปี 2022 ยุน ซ็อก-ย็อล ก็ประกาศว่า ตนจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้
แม้จะไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง แต่เขาก็สามารถเอาชนะคู่แข่งไปด้วยคะแนนที่เฉือดเฉือนกันอยู่แค่ 0.73% และได้กลายเป็นประธานาธิบดี คนที่ 13 ของประเทศ
ยุน ค่อนข้างมีแนวคิดที่แตกต่างจากผู้นำคนก่อน ที่พยายามสร้างสันติภาพกับเกาหลีเหนือ แต่เขากลับเลือกใช้มาตรการที่เข้มงวดกับเกาหลีเหนือ และหันไปผูกมิตรกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่นแทน รวมถึงมีแนวคิดต่อต้านเฟมินิสต์ด้วย
มีการซ้อมรบร่วมกันระหว่าง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นในสมัยของเขา และทำงานอย่างหนัก เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งระหว่างผู้นำประเทศพันธมิตรของเขา
ยุน เป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนแรกที่เข้าร่วมประชุมนาโต ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน เมื่อปี 2022 และได้ให้ความช่วยเหลือทางทหารและการเงินกับยูเครน
ความนิยมตกต่ำ เผชิญเรื่องอื้อฉาว
ความนิยมในตัว “ยุน” ลดลลงอย่างรวดเร็ว หลังเข้าดำรงตำแหน่ง ร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่นำเสนอโดยเขา ถูกตีตกไปหลายฉบับ เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ มาจากพรรคฝ่ายตรงข้าม โดยมีเพียงร่างกฎหมาย 29% จากทั้งหมดที่ถูกนำเสนอโดยเขา ที่ผ่านรัฐสภา
นอกจากนี้ เขายังถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความต้องการย้ายทำเนียบประธานาธิบดีไปที่อื่น แต่ประชาชนก็ไม่พอใจเรื่องนี้ เพราะเป็นการสิ้นเปลือง
ขณะเดียวกัน “คิม กอน-ฮี” ภรรยาของเขา ก็เผชิญเรื่องอื้อฉาวหลายเรื่อง ทั้งรับสินบนเป็นกระเป๋าหรูแบรนด์เนม, ปั่นหุ้นก่อนยุนเข้ารับตำแหน่ง หรือแม้กระทั่งการปลอมแปลงเอกสารสำคัญ เป็นต้น จนทำให้ยุนต้องออกมาขอโทษแทนภรรยา
จากเรื่องอื้อฉาวที่ถูกเปิดเผยออกมาเรื่อย ๆ ส่งผลให้พรรคของเขาแพ้การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อเดือนเมษายน 2024 สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมที่ตกต่ำลง
“กฎอัยการศึก” ทำหลุดเก้าอี้ผู้นำ
ด้วยความที่คะแนนนิยมตกต่ำลงเรื่อย ๆ บวกกับเสียงข้างมากในสภามาจากพรรคฝ่ายค้าน ทำให้เมื่อเดือนธันวาคม 2024 ยุน ประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งให้เหตุผลว่า เป็นการปกป้องประเทศจากเกาหลีเหนือ และสายลับที่แฝงตัวอยู่ในเกาหลีใต้ โดยไม่มีหลักฐานใด ๆ มายืนยันแน่ชัด
การประกาศดังกล่าว ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจ เกิดการประท้วงหน้าทำเนียบทันทีที่มีการประกาศใช้ รวมถึง ส.ส. หลายคนต่างก็ฝ่าด่านทหาร ปีนเข้ารั้วรัฐสภา เพื่อลงมติยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก ก่อน “ยุน” จะมีการประกาศยกเลิกภายหลัง
ต่อมา รัฐสภาก็มีมติถอดถอน “ยุน ซ็อก-ย็อล” ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา 180 วัน ก่อนที่ในที่สุด วันนี้ (4 เมษายน) ศาลมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ถอดถอน “ยุน” ออกจากการเป็นผู้นำประเทศเกาหลีใต้ และทำให้เขากลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ที่ถูกถอดถอน หลังจากพัค กึน-ฮเย ในปี 2016
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://news.sky.com/story/yoon-suk-yeol-the-south-korean-president-who-could-be-impeached-13266605
https://en.wikipedia.org/wiki/Yoon_Suk_Yeol
ที่มาข้อมูล : SKY News, Wikipedia
ที่มารูปภาพ : AFP

พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์