อัปเดตล่าสุดอาฟเตอร์ช็อกทะลุ 300 ครั้ง สั่งปิดตึกเสียหายหนัก 36 แห่ง

กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสรุปอาฟเตอร์ช็อก แผ่นดินไหวประเทศเมียนมา อัปเดตเวลา 10.00 น. วันนี้ (4 เมษายน 68) รวมทั้งสิ้น 309 เหตุการณ์ ครั้งล่าสุดเมื่อเวลา 09:59 น. ขนาด 2.7 ความลึก 10 กิโลเมตร ศูนย์กลาง ใกล้ เมืองสะกาย

ส่วนในไทย เกิด เมื่อเวลา 01:02 น. คืนที่ผ่านมา (4 เม.ย.) ขนาด 2.8 ความลึก 1 กม. ที่ ต.เมืองงาย  อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ไม่มีรายงานความเสียหาย

อัปเดตล่าสุดอาฟเตอร์ช็อกทะลุ 300 ครั้ง สั่งปิดตึกเสียหายหนัก 36 แห่ง

สรุปข่าว

กรมโยธาธิการและผังเมือง ยืนยันว่า มีช่องทางให้เจ้าของอาคาร ผู้ตรวจสอบอาคาร หรือ ประชาชน สามารถรับทราบข้อมูลต่าง ๆ และให้คำปรึกษาผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ของกรมฯ สื่อมวลชน โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ ส่วนหน่วยงานภาครัฐพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ที่ประสงค์จะตรวจสอบอาคารเร่งประสาน ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว สายด่วน 1531

ด้านศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ณ กรมโยธาธิการและผังเมือง ถ.พระรามที่ 6 ได้ร่วมกับสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาภาคเอกชน ตรวจสอบอาคารที่มีการแจ้งว่าได้รับความเสียหาย ดำเนินการตรวจสอบอาคารสะสมตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. – 2 เม.ย. รวม 76 จังหวัด จำนวน 4,431 อาคาร 

- สีเขียว สามารถใช้งานได้ปกติ4,137 อาคาร

- สีเหลือง มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ 258 อาคาร

- สีแดง โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนักโดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร 36 อาคาร

ทั้งนี้ เกณฑ์แบ่งสีระดับสถานะโครงสร้างอาคาร มี 3 สี

สีเขียว : โครงสร้างเสียหายเล็กน้อยหรือไม่เสียหาย ใช้งานอาคารได้ตามปกติ แต่ควรเฝ้าระวัง หากตรวจสอบพบสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ และแจ้งวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบ

สีเหลือง : โครงสร้างเสียหายปานกลาง ใช้งานได้แต่ต้องระมัดระวังภัยจากเศษวัสดุร่วงหล่นจากชิ้นส่วนโครงสร้างและส่วนประกอบต่างๆ โดยควรจัดหาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ สำรวจความเสียหายอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อยืนยันความปลอดภัย และกำหนดวิธีซ่อมแซมที่เหมาะสม

สีแดง : โครงสร้างเสียหายอย่างหนัก สภาพไม่ปลอดภัย ห้ามใช้งาน การเข้าภายในอาคารต้องได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ รวมถึงต้องจัดหาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ สํารวจความเสียหายอย่างละเอียด กำหนดวิธีการซ่อมแซม ก่อนเปิดให้ใช้อาคาร

ที่มาข้อมูล : TNN

ที่มารูปภาพ : ทีมข่าว TNN และ eq.tmd.go.th

avatar

นนท์สมร ศานติวงศ์สกุล

แท็กบทความ

แผ่นดินไหว
ตรวจอาคาร
กรมโยธาธิการ
ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว
สถานะโครงสร้างอาคาร
อาฟเตอร์ช็อกกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว