แอร์บัสพัฒนาห้องนักบินเทคโนโลยีล้ำสมัยในโครงการ EPIIC ทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ AI

บริษัทแอร์บัส ดีเฟนซ์ แอนด์ สเปซ (Airbus Defence and Space) และพันธมิตรในยุโรป กำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีห้องนักบินของเครื่องบินรบแห่งอนาคต ภายใต้โครงการ Enhanced Pilot Interfaces & Interactions for Fighter Cockpit (EPIIC) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนป้องกันยุโรป (European Defence Fund - EDF) โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันประเทศและยกระดับความเป็นอิสระด้านเทคโนโลยีของยุโรป

โครงการ EPIIC มุ่งเน้นการพัฒนาอินเทอร์เฟซระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรในห้องนักบิน (HMI) ที่มีความยืดหยุ่น รวมถึงจอแสดงผลเสมือนจริง ผู้ช่วยดิจิทัล ระบบฉายภาพบนหมวกนักบิน และการควบคุมด้วยท่าทาง เพื่อสร้างประสบการณ์การบินที่ตอบสนองได้อย่างราบรื่นและเป็นธรรมชาติ โดยเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยเพิ่มการรับรู้สถานการณ์และประสิทธิภาพของนักบินในระหว่างปฏิบัติภารกิจทางทหาร

แอร์บัสพัฒนาห้องนักบินเทคโนโลยีล้ำสมัยในโครงการ EPIIC ทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ AI

สรุปข่าว

แอร์บัสและพันธมิตรในยุโรปพัฒนาเทคโนโลยีห้องนักบินล้ำสมัยภายใต้โครงการ EPIIC เสริมศักยภาพนักบินด้วยอินเทอร์เฟซอัจฉริยะ ผู้ช่วยดิจิทัล และการควบคุมด้วยท่าทาง มุ่งสร้างระบบรบทางอากาศแห่งอนาคตที่เป็นอิสระและทันสมัยของยุโรป

ต้นแบบห้องนักบินอัจฉริยะในสเปน

ความก้าวหน้าดังกล่าวถูกแสดงในห้องปฏิบัติการต้นแบบห้องนักบินที่โรงงานแอร์บัส เมืองเกตาเฟ กรุงมาดริด ประเทศสเปน ซึ่งมีนักบินทดสอบชื่อโฆเซ รามอน อาเซนซี มิราเยส (José Ramón Asensi Miralles) กำลังทดสอบเทคโนโลยีจดจำท่าทางผ่านแว่นตาอัจฉริยะ เพื่อสั่งการระบบต่าง ๆ ในห้องนักบินโดยไม่ต้องพึ่งพาปุ่มหรือสวิตช์แบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม การควบคุมหลักยังคงยึดตามแนวคิด HOTAS (Hands On Throttle And Stick) เพื่อรักษาประสิทธิภาพการบินสูงสุด

โครงการ EPIIC เป็นความร่วมมือข้ามชาติกับพันธมิตรกว่า 27 แห่ง ทั่วทวีปยุโรป โดยมีบริษัททาลส์ (Thales) เป็นผู้ประสานงานหลัก และแอร์บัสเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาอินเทอร์เฟซสำหรับนักบินผู้ใช้งานโดยเน้นการใช้คำสั่งด้วยเสียง ระบบการสังเคราะห์เสียง การตรวจจับการเคลื่อนไหว และการติดตามสายตา เพื่อให้ทุกองค์ประกอบของระบบสามารถสนับสนุนและเสริมขีดความสามารถของนักบินได้อย่างเต็มที่

นักบินรบทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ AI

บริษัทแอร์บัสยังได้ร่วมมือกับบริษัทมัลติเวิร์ส คอมพิวติ้ง (Multiverse Computing) เพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ AI ที่สามารถจดจำท่าทางนักบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้พลังงานน้อยลงเมื่อเทียบกับแนวทางปกติ ความร่วมมือดังกล่าวผสมผสานความเชี่ยวชาญด้านอินเทอร์เฟซผู้ใช้งานของแอร์บัส เข้ากับเทคโนโลยีควอนตัมแมชชีนเลิร์นนิงและโมเดลภาษาขนาดใหญ่ของมัลติเวิร์ส

เมื่อโครงการ EPIIC ดำเนินไปถึงระยะที่สองและเสร็จสิ้นในปี 2026 เทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงจะถูกนำไปทดสอบในสภาพแวดล้อมจำลอง ก่อนถูกนำไปใช้จริงในระบบรบทางอากาศแห่งอนาคต (Future Combat Air System - FCAS) ซึ่งเป็นโครงการร่วมของฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เครื่องบินรบรุ่นใหม่สามารถทำงานร่วมกับยานไร้คนขับและระบบอื่น ๆ ผ่านการเชื่อมต่อแบบคลาวด์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

avatar

พีรพรรธน์ เชื้อจีน

แท็กบทความ

EPIIC
Airbus
aircraft cockpit
cockpit
TNN TechTNN Tech Reports