
จีนประกาศความคืบหน้าการก่อสร้างขั้นสุดท้ายของสถานี High Energy Photon Source หรือ HEPS ซึ่งเป็นสถานีกำเนิดแสง ซินโครตรอน (Synchrotron) หรือแสงที่ได้ชื่อว่ามีความสว่างมากที่สุดในโลก สว่างกว่าดวงอาทิตย์ล้านล้านเท่า เพื่อใช้รองรับการวิจัย และการสำรวจด้านวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ในอนาคต

สรุปข่าว
จากข้อมูลของ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ระบุว่า แสงซินโครตรอน (Synchrotron) คือแสงที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากอิเล็กตรอน ที่เลี้ยวโค้งด้วยความเร็วใกล้ความเร็วแสง ความเร็วสามร้อยล้านเมตรต่อวินาที หรือประมาณหนึ่งพันล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง
ตัวแสงมีความเข้มสูง มีค่าพลังงานต่อเนื่อง ครอบคลุมช่วงพลังงานกว้างตั้งแต่ช่วงของรังสีอินฟราเรดจนถึงรังสีเอ็กซ์ ทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย โดยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาวิจัยในหลายสาขา โดยเฉพาะการศึกษาองค์ประกอบ และโครงสร้างของวัสดุต่าง ๆ
โดยสถานีกำเนิดแสงพลังงานสูงของจีน หรือ เฮ็ปส์ (HEPS) พัฒนาโดยสถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง (The Institute of High Energy Physics - IHEP) ภายใต้ สถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) โดยตัวอาคารตั้งอยู่ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางเหนือ ประมาณ 50 กิโลเมตร
เมื่อมองจากมุมสูง ตัวอาคารจะมีลักษณะคล้ายแว่นขยาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงเครื่องมือสำหรับการจำแนกลักษณะโครงสร้างจุลภาคของสสาร ส่วนภายในอาคารมีครื่องเร่งอนุภาค และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภค โดยมีเครื่องกำเนิดแสงที่มีวงแหวนเก็บพลังงาน ที่ช่วยให้ลำแสงมีความเสถียรและโฟกัสได้ดี และสามารถสร้างลำแสงที่มีความหนาแน่น เปล่งแสงสว่างกว่าดวงอาทิตย์ถึงหนึ่งล้านล้านเท่า
โดยเมื่อสร้างเสร็จ สถานที่แห่งนี้ จะไม่เป็นเพียงแค่แหล่งกำเนิดแสงพลังงานสูงแห่งแรกในจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในสถานที่สร้างซิงโครตรอนที่สว่างที่สุดในโลกอีกด้วย
สำหรับการก่อสร้างสถานีแห่งนี้ นับเป็นหนึ่งในการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของจีน โดยมีการลงทุนไปมากถึง 4,800 ล้านหยวน หรือราว 22,000 ล้านบาท การก่อสร้างเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน ปี 2019 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการใช้งานได้ในช่วงปลายปีนี้ เพื่อใช้สนับสนุนการวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ ชีวการแพทย์ และฟิสิกส์ ของจีนต่อไป
ข้อมูลจาก
ที่มารูปภาพ : http://english.ihep.cas.cn/heps/ar/

อารียา ใจสุข