
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากบริษัทสตาร์ตอัปในประเทศเยอรมนี เผยผลงานการผลิต ไบโอแก๊ส (Biogas) หรือก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่ได้จากการย่อยสลายอินทรียวัตถุ โดยบริษัทเลือกใช้เป็นวิธีการเปลี่ยน “น้ำเสีย” ให้กลายเป็น “เชื้อเพลิง” สำหรับเรือขนส่ง เพื่อเป็นทางเลือกเชื้อเพลิงที่ยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตัวการของภาวะโลกร้อน

สรุปข่าว
ผลงานนี้อยู่ภายใต้โครงการนำร่องของบริษัท ไอโคดอส (ICODOS) ซึ่งพัฒนาเทคโลยีที่ช่วยให้บริษัท สามารถแปลงคาร์บอนไดออกไซด์จากก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ให้เป็น อีเมทานอล (e-methanol) หรือเชื้อเพลิงเมทานอลสังเคราะห์ โดยใช้ไฮโดรเจน โดยตอนนี้บริษัทตั้งเป้าจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง สำหรับอุตสาหกรรมการขนส่งทางเรือเป็นหลัก
ซึ่งปัจจุบันด้วยการใช้เทคโนโลยีของบริษัท ทำให้โรงบำบัดน้ำเสียซึ่งตั้งอยู่ในเมือง มันไฮม์ (Mannheim) ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี สามารถผลิตเชื้อเพลิงเมทานอลสังเคราะห์ได้สูงสุดประมาณ 50 ลิตรต่อวัน และในปี 2026 จะมีการขยายโครงการนำร่องไปยังโรงงานในประเทศฝรั่งเศส ที่คาดว่าจะสามารถผลิตเชื้อเพลิงได้เพิ่มขึ้น 15 เท่าของปริมาณเดิม
การขยายโครงการนำร่องนี้ ก็เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะสามารถผลิตเชื้อเพลิงที่ยั่งยืน เพื่อให้เพียงพอต่อการขับเคลื่อนเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ และเรือบรรทุกสมัยใหม่ ที่ใช้เชื้อเพลิงมากถึง 250 ตันต่อวัน
ทั้งนี้มีข้อมูลระบุว่าอุตสาหกรรมการขนส่งทั่วโลก มีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 706 ล้านตันต่อปี หรือประมาณร้อยละ 3 ของทั้งหมด โดยเฉพาะเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ เรือบรรทุกน้ำมัน และเรือบรรทุกสินค้าจำนวนมาก ที่ยังคงใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลทางทะเล ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ในปริมาณมาก
ด้วยเหตุนี้ผลงานของบริษัท จึงนับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะมาปฏิวัติอุตสาหกรรมการเดินเรือ ด้วยการใช้น้ำเสีย เพื่อผลิตเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่งและการเดินเรือทางทะเล ให้มีความยั่งยืน และส่งผลกระทบต่อโลกน้อยที่สุด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคการขนส่งได้มากขึ้น
ข้อมูลจาก
ที่มารูปภาพ : ICODOS

อารียา ใจสุข