
หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา โลกออนไลน์ได้มีการแชร์คลิปวิดีโอจำนวนมากที่แสดงให้เห็นภาพน้ำจากสระบนดาดฟ้าคอนโดมิเนียมสูงในกรุงเทพฯ ไหลร่วงลงมาคล้ายน้ำตก สร้างความตื่นตะลึงและเกิดคำถามในหมู่ประชาชนว่า
"สระน้ำบนชั้นดาดฟ้าสามารถช่วยลดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้หรือไม่ ?"
อาคารสูงทั่วโลกโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว มักได้รับการออกแบบโดยใช้เทคนิคในการลดแรงสั่นสะเทือน หนึ่งในเทคนิคที่เป็นที่รู้จักคือ Tuned Mass Damper (TMD) หรือ ระบบลูกตุ้มลดแรงสั่นสะเทือน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืออาคารไทเป 101 ในไต้หวัน ที่มีลูกตุ้มขนาดใหญ่ติดตั้งไว้บนชั้นบนสุด เพื่อถ่วงน้ำหนักและลดการสั่นของตัวอาคารเมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนจากภายนอก

สรุปข่าว
โดยอีกเทคนิคหนึ่งที่คล้ายคลึงกันคือ Tuned Liquid Damper (TLD) หรือ ระบบกันสั่นด้วยของเหลวที่ปรับจูนความถี่ได้ ซึ่งใช้หลักการเดียวกันโดยใช้น้ำแทนลูกตุ้ม กล่าวคือ น้ำในถังที่ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษจะเคลื่อนที่เพื่อต้านแรงสั่นของอาคาร โดยดูดซับและถ่ายเทพลังงานจากแรงสั่นสะเทือนให้กระจายออกไป ลดการโยกตัวของอาคาร
แล้วสระน้ำบนดาดฟ้าคอนโดถือเป็น Tuned Liquid Damper (TLD) ได้หรือไม่ ?
แม้ว่าสระน้ำบนชั้นดาดฟ้าคอนโดจะมี "ของเหลว" อยู่จริง แต่ก็ ไม่สามารถนับว่าเป็นระบบ Tuned Liquid Damper ได้ เนื่องจากขาดการออกแบบทางวิศวกรรมที่เจาะจงเพื่อจุดประสงค์ในการลดแรงสั่นสะเทือน
ระบบ Tuned Liquid Damper ที่แท้จริงต้องประกอบด้วยถังน้ำที่ออกแบบเฉพาะเพื่อให้สามารถควบคุมทิศทางและความถี่ของการเคลื่อนที่ของน้ำได้อย่างแม่นยำ โดยอาศัยการคำนวณที่ซับซ้อน และมักติดตั้งอยู่ในอาคารสูงระดับพิเศษเท่านั้น
ในขณะที่ สระน้ำบนดาดฟ้าคอนโดทั่วไปนั้นมีจุดประสงค์เพื่อความสวยงามและเพื่อการพักผ่อนของผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก บางแห่งอาจมีคุณสมบัติเสริมในการช่วยลดอุณหภูมิของอาคาร แต่ก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ในระดับเล็กน้อยเท่านั้น และไม่ได้ออกแบบมาเพื่อลดแรงสั่นจากแผ่นดินไหวโดยตรง
ที่มารูปภาพ : Bigfoot from Pixabay

พีรพรรธน์ เชื้อจีน