
แผ่นเปลือกโลก (Tectonic Plate) หรือชั้นนอกสุดของโลกที่แยกออกเป็นแผ่น ๆ ขนาดใหญ่และขนาดเล็กซึ่งลอยอยู่บนชั้นแมนเทิลที่มีลักษณะกึ่งหลอมละลาย แผ่นเปลือกโลกเหล่านี้สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างช้า ๆ ตลอดเวลา
โดยการเคลื่อนไหวนี้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนับล้าน ๆ ปี และเป็นต้นเหตุสำคัญของแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิประเทศ
นักวิทยาศาสตร์ทราบกันมานานแล้วว่า โลกของเรานั้นมีแผ่นเปลือกโลกหลักอยู่ประมาณ 7 แผ่น ได้แก่ แผ่นยูเรเซีย, แผ่นแปซิฟิก, แผ่นอเมริกาเหนือ, แผ่นอเมริกาใต้, แผ่นแอฟริกา, แผ่นออสเตรเลีย, และแผ่นแอนตาร์กติกา
นอกจากนี้ยังมีแผ่นย่อย ๆ อีกหลายแผ่นที่มีบทบาทสำคัญในการเกิดปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา เช่น แผ่นฟิลิปปินส์ แผ่นอินเดีย แผ่นนาสกา และแผ่นโคโคส

สรุปข่าว
การเกิดแผ่นดินไหวส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบริเวณขอบของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งเป็นจุดที่แผ่นต่าง ๆ เคลื่อนตัวมาชนกัน แยกออกจากกัน หรือเลื่อนผ่านกัน แรงเสียดทานและพลังงานที่สะสมอยู่ในหินบริเวณรอยต่อแผ่นเปลือกโลก และเมื่อมันถูกปลดปล่อยออกมาอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของพื้นดินซึ่งเราเรียกว่าแผ่นดินไหว
สำหรับประเทศไทยและเมียนมา แม้จะไม่ได้ตั้งอยู่บนขอบแผ่นเปลือกโลกโดยตรง แต่ก็อยู่ใกล้กับขอบแผ่นยูเรเซีย แผ่นอินเดีย และแผ่นฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือและภาคตะวันตกของไทยที่มีรอยเลื่อนสำคัญ เช่น รอยเลื่อนสะแกกรัง รอยเลื่อนแม่จัน และในเมียนมา เช่น รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ซึ่งมีศักยภาพในการเกิดแผ่นดินไหวระดับปานกลางถึงรุนแรงได้
จุดอันตรายที่อาจเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่
นักธรณีวิทยาได้เฝ้าระวังพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในอนาคต โดยเฉพาะบริเวณที่แผ่นเปลือกโลกหลายแผ่นบรรจบกัน เช่น ประเทศญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่บนรอยต่อของแผ่นยูเรเซีย แปซิฟิก ฟิลิปปินส์ และอเมริกาเหนือ อีกจุดที่ต้องจับตามองคือรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา
โดยเฉพาะรอยเลื่อนซานแอนเดรียสที่มีการเคลื่อนตัวต่อเนื่องมานาน และในประเทศอินโดนีเซียก็เป็นอีกพื้นที่เสี่ยงเนื่องจากอยู่ในแนว “วงแหวนไฟแปซิฟิก” เช่นเดียวกับตอนใต้ของชิลีและเปรูซึ่งแผ่นนาสกากำลังมุดตัวลงใต้แผ่นอเมริกาใต้ รวมถึงแนวเทือกเขาหิมาลัยบริเวณเนปาลและอินเดียตอนเหนือ ที่เกิดจากการชนกันของแผ่นอินเดียและยูเรเซียอย่างต่อเนื่อง
การศึกษาพฤติกรรมของแผ่นเปลือกโลกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจและคาดการณ์แนวโน้มของแผ่นดินไหวในอนาคต รวมถึงสามารถเตรียมการป้องกันและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ที่มารูปภาพ : Wikipedia

พีรพรรธน์ เชื้อจีน