ริกเตอร์ (Richter) ไม่ใช่ชื่อหน่วยของขนาดหรือความรุนแรงของแผ่นดินไหว

ในอดีตการรายงานแผ่นดินไหวมักใช้คำว่า “ริกเตอร์” (Richter) ต่อท้ายตัวเลขขนาดของแผ่นดินไหว เช่น “แผ่นดินไหวขนาด 7.5 ริกเตอร์” ทำให้หลายคนเข้าใจว่า “ริกเตอร์” เป็นขนาดหรือความรุนแรงของแผ่นดินไหว 

“ริกเตอร์” หรือ Richter magnitude scale หรือ Local magnitude scale ชื่อย่อ ML เป็นชื่อของมาตราส่วนที่ใช้วัดขนาด (Magnitude) ของแผ่นดินไหวไม่ใช่ความรุนแรง (Intensity) หรือการกำหนดตัวเลขเพื่อบอกปริมาณของพลังงานแผ่นดินไหวที่ปลดปล่อยออกมาจากแผ่นดินไหวครั้งหนึ่งเป็นมาตราส่วนเชิงลอการิทึมฐานสิบ ซึ่งสามารถคำนวณได้จากลอการิทึมของแอมพลิจูดการสั่นที่มีค่ามากที่สุดจากศูนย์บนเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหว

ตัวอย่างเช่น พลังงานที่ปลดปล่อยจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเทียบเป็นมาตราส่วนลอการิทึม (Logarithmic scale)

แผ่นดินไหวขนาด 6.0 รุนแรงกว่าขนาด 5.0 ถึง 10 เท่า
แผ่นดินไหวขนาด 7.0 รุนแรงกว่าขนาด 5.0 ถึง 100 เท่า

สาเหตุที่ใช้ลอการิทึมในการวัดแผ่นดินไหว เนื่องจากพลังงานที่ปลดปล่อยจากแผ่นดินไหวมีปริมาณมหาศาล ถ้าใช้ตัวเลขแบบเส้นตรงจะไม่สามารถแสดงความแตกต่างที่แท้จริงได้อย่างชัดเจน

มาตราริกเตอร์ (Richter Scale) ถูกพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1935 โดย ชาลส์ ฟรานซิส ริกเตอร์ (Charles Francis Richter) ร่วมกับเบโน กูเทนเบิร์ก (Beno Gutenberg) นักแผ่นดินไหววิทยาแห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology – Caltech) โดยใช้หลักคณิตศาสตร์ที่อิงจากลอการิทึมของแอมพลิจูดคลื่นไหวสะเทือนที่ตรวจจับได้จากเครื่องวัด (Seismograph) พร้อมปรับค่าสำหรับระยะห่างระหว่างเครื่องมือกับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว

ริกเตอร์ (Richter) ไม่ใช่ชื่อหน่วยของขนาดหรือความรุนแรงของแผ่นดินไหว

สรุปข่าว

ในอดีตนิยมใช้คำว่า “ริกเตอร์” ต่อท้ายตัวเลขขนาดแผ่นดินไหว แต่ในปัจจุบันเลิกใช้อย่างเป็นทางการแล้ว โดยเปลี่ยนมาใช้มาตราโมเมนต์ (Moment Magnitude Scale – Mw) ซึ่งให้ค่าที่แม่นยำกว่า โดยเฉพาะในกรณีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ทั้งนี้ “ริกเตอร์” เป็นชื่อของมาตราวัดขนาด ไม่ใช่ความรุนแรงของแผ่นดินไหว

มาตราริกเตอร์สามารถใช้วัดแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงขนาดกลางได้อย่างแม่นยำ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการศึกษาแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้นในระดับโลก พบว่ามาตราริกเตอร์มีข้อจำกัด จึงได้มีการพัฒนา “มาตราโมเมนต์” หรือ Moment Magnitude Scale (Mw) ซึ่งสามารถประเมินพลังงานที่ปลดปล่อยจากแผ่นดินไหวได้อย่างแม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่

ปัจจุบัน การรายงานแผ่นดินไหวตามหลักสากลจึงนิยมใช้ตัวเลขขนาดโดยไม่ใส่หน่วย เช่น “แผ่นดินไหวขนาด 7.3” หรือ “แผ่นดินไหวขนาด 9.0” แทนการใช้คำว่า “ริกเตอร์” ซึ่งเลิกใช้ในทางวิชาการไปแล้ว แม้ชื่อของมาตราริกเตอร์จะไม่ได้ใช้อย่างแพร่หลายเหมือนในอดีต แต่นักวิทยาศาสตร์อย่าง ชาลส์ ฟรานซิส ริกเตอร์ และ เบโน กูเทนเบิร์ก ยังคงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานที่สำคัญให้กับศาสตร์ด้านแผ่นดินไหววิทยาของโลก

ตัวอย่างเช่น 

ข่าวด่วน ! เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ตามมาตราโมเมนต์
ข่าวด่วน ! เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8
ข่าวด่วน ! เกิดเหตุแผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.8

แต่ที่นิยมใช้กันมากที่สุด คือ ข่าวด่วน ! เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8

avatar

พีรพรรธน์ เชื้อจีน