บริษัท SpaceX ส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ 2 ลำ ในการปล่อยจรวดครั้งเดียว
สรุปข่าว
บริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ 2 ลำ จากบริษัท ไอสเปซ (ispace) ประเทศญี่ปุ่น และบริษัท ไฟร์ไฟลย์ แอโรสเปซ (Firefly Aerospace) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการปล่อยจรวด Falcon 9 ครั้งเดียว ในวันที่ 15 มกราคม เวลาประมาณ 13.12 น. ตามเวลาในประเทศไทย จากบริเวณฐานปล่อยจรวด LC‑39A ศูนย์อวกาศเคนเนดี้ รัฐฟลอริด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา
ยานลำแรกริซิลเลียนซ์ (Resilience) ของบริษัท ไอสเปซ (ispace)
สำหรับบริษัท ไอสเปซ (ispace) จากประเทศญี่ปุ่น นับเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยนายทาเคชิ ฮากามาดะ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ ispace กล่าวในแถลงการณ์เมื่อเดือนธันวาคมปี 2023 มีรายละเอียดว่า "เราตื่นเต้นที่จะแจ้งให้ทราบว่าภายในอีกประมาณหนึ่งเดือน เราจะเริ่มต้นภารกิจ Mission 2 อันทรงเกียรติของบริษัท ไอสเปซ (ispace) เพื่อดำเนินการทดลองลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งที่สอง เราหวังว่าคุณจะร่วมงานกับเรา...แล้วพบกันบนดวงจันทร์!"
ก่อนหน้านี้ ในเดือนเมษายน 2023 ภารกิจแรกของบริษัท ไอสเปซ (ispace) พยายามนำยาน Hakuto-R ซึ่งหนัก 1,000 กิโลกรัม ลงสู่ดวงจันทร์ แต่ล้มเหลวเนื่องจากปัญหาเซ็นเซอร์วัดระดับความสูงที่สับสนกับภูมิประเทศของหลุมอุกกาบาต อย่างไรก็ตาม ภารกิจที่ 2 ได้ปรับปรุงยานต้นแบบใหม่ชื่อว่าริซิลเลียนซ์ (Resilience) พร้อมด้วยอุปกรณ์บรรทุก 5 รายการ เช่น โมดูลผลิตอาหาร เครื่องแยกน้ำด้วยไฟฟ้า และรถสำรวจไมโครโรเวอร์ เทเนเชิส (Tenacious) ที่มีความสูง 26 เซนติเมตร โดยมีเป้าหมายจะลงจอดในพื้นที่ Mare Frigoris หรือ "ทะเลแห่งความหนาวเย็น"
สำหรับยานลงจอด Hakuto-R Mission 2 หรือ ริซิลเลียนซ์ (Resilience) โครงสร้างจะมีขนาด 2.5 x 2.3 เมตร และมีน้ำหนัก 340 กิโลกรัม โครงสร้างของยานมีลักษณะเป็นยานลงจอดไม่สามารถเคลื่อนที่บนผิวดวงจันทร์ได้ แต่จะมีการติดตั้งหุ่นยนต์รถสำรวจขนาดเล็กน้ำหนัก 5 กิโลกรัม ขึ้นไปพร้อมกับยาน และจะทำการส่งลงวิ่งบนพื้นผิวดวงจันทร์เพื่อสำรวจเก็บข้อมูลต่าง ๆ
ยานริซิลเลียนซ์ (Resilience) คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือนหลังจากปล่อยยาน เพื่อเดินทางไปยังดวงจันทร์ในเส้นทางโคจรที่มีประสิทธิภาพและใช้พลังงานต่ำ โดยหลังจากลงจอดสำเร็จยานจะปล่อยรถสำรวจไมโครโรเวอร์ เทเนเชิส (Tenacious) เพื่อตรวจสอบและเก็บตัวอย่างดินบนพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากับ NASA นอกจากนี้ยานยังบรรทุกแผ่นดิสก์หน่วยความจำที่พัฒนาโดยองค์กร UNESCO ซึ่งบรรจุ 275 ภาษาและสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ขึ้นไปพร้อมกับยานอีกด้วย
ยานลำที่สองบลู โกสต์ (Blue Ghost) ของบริษัท ไฟร์ไฟลย์ แอโรสเปซ (Firefly Aerospace)
ในภารกิจนี้ ยานบลู โกสต์ (Blue Ghost) ของบริษัทไฟร์ไฟลย์ แอโรสเปซ (Firefly Aerospace) จะเดินทางไปกับจรวด Falcon 9 ลำเดียวกัน โดยยานบลู โกสต์ (Blue Ghost) จะถูกปล่อยก่อนและถึงดวงจันทร์ก่อนริซิลเลียนซ์ (Resilience) ประมาณ 45 วัน ยานลงจอดในพื้นที่ Mare Crisium หรือ "ทะเลแห่งวิกฤต" พร้อมบรรทุกอุปกรณ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับ NASA ภายใต้โครงการ Commercial Lunar Payload Services (CLPS)
สำหรับยานบลู โกสต์ (Blue Ghost) ยานลงจอดบนดวงจันทร์ที่ออกแบบและพัฒนาโดยบริษัท ไฟร์ไฟลย์ แอโรสเปซ (Firefly Aerospace) รองรับน้ำหนักได้ 150 กิโลกรัม และสร้างกำลังขับดัน 650 วัตต์ โครงสร้างมีขนาดความสูง 2 เมตร และเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5 เมตร พร้อมระบบขั้นสูงสำหรับการสื่อสาร การควบคุมความร้อน และการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ ยานถูกออกแบบให้มีฉนวนป้องกันความร้อนที่แข็งแรง รวมถึงขาตั้งที่สามารถดูดซับแรงกระแทกจากการลงจอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บริษัท ไฟร์ไฟลย์ แอโรสเปซ (Firefly Aerospace) วางแผนให้ยานบลู โกสต์ (Blue Ghost) ปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์เป็นเวลา 14 วัน ตามเวลาบนโลก และถ่ายภาพการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวดวงจันทร์ในช่วงพลบค่ำ ก่อนที่จะปฏิบัติการต่อไปจนเข้าสู่คืนจันทรคติ
หากภารกิจของยานริซิลเลียนซ์ (Resilience) และ บลู โกสต์ (Blue Ghost) ประสบความสำเร็จจะถือเป็นก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์การสำรวจดวงจันทร์ของยานอวกาศเชิงพาณิชย์ โดยจนถึงปัจจุบันมีเพียงยานโอดิสเซียส (Odysseus) ของบริษัท อินทูอิทีฟ แมชชีนส์ (Intuitive Machines) ประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่นับว่าเป็นยานอวกาศจากบริษัทเอกชนที่เคยลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2024 ที่ผ่านมา
ที่มาของข้อมูล
ผู้สื่อข่าวมากประสบการณ์ของ TNN Thailand ที่เชี่ยวชาญด้าน เทคโนโลยี มีประสบการณ์ในวงการสื่อสารมวลชนกว่า 15 ปี