ก้อนอิฐ 3,000 ปีเผยอดีตเมโสโปเตเมีย นักวิทย์พบการเกิดสนามแม่เหล็กโลกแปลกประหลาด

ก้อนอิฐ 3,000 ปีเผยอดีตเมโสโปเตเมีย นักวิทย์พบการเกิดสนามแม่เหล็กโลกแปลกประหลาด

สรุปข่าว

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) ศึกษาอิฐอายุ 3,000 ปีจากอารยธรรมเมโสโปเตเมีย และมันได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสนามแม่เหล็กโลกในอดีต


ทั้งนี้โลกของเรามีสนามแม่เหล็กที่ผันผวน และมันก็อาจทิ้งร่องรอยความผันผวนไว้บนแร่บางชนิดที่ไวต่อสนามแม่เหล็ก ซึ่งอิฐอายุกว่า 3,000 ปีเหล่านี้ก็มีเศษแร่เหล็กอยู่เล็กน้อย และการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลกก็ส่งผลต่อเศษแร่เหล็กเหล่านี้ วิธีการศึกษานี้เรียกว่าการศึกษาสนามแม่เหล็กทางโบราณคดี (Archaeomagnetism) ซึ่งวิธีการก็คือใช้โบราณวัตถุเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสนามแม่เหล็กของโลกในอดีต 


ในการศึกษานี้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาอิฐดินเหนียว 32 ก้อน ในประเทศอิรัก ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมเมโสโปเตเมียเมื่อหลายพันปีก่อน เมื่อสนามแม่เหล็กโลกมีการเปลี่ยนแปลงมันก็ได้ส่งผลกระทบต่อแร่ธาตุที่ไวต่อสนามแม่เหล็กโลกในก้อนอิฐ (Hot Minerals เช่น แมกนีไทต์ ฮีมาไทต์ ฯลฯ) โดยอนุภาคในแร่จะมีการเปลี่ยนแปลง เช่น การจัดเรียงอนุภาคหรือการเปลี่ยนตำแหน่งอนุภาคในแร่ใหม่ ซึ่งวิธีการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ก็จะนำชิ้นส่วนเล็ก ๆ จากส่วนที่แตกของอิฐมาวัดเม็ดเหล็กออกไซด์ และใช้เครื่องมือพิเศษที่เรียกว่าแมกนีโตมิเตอร์เพื่อวัดเม็ดอิฐเหล่านี้ก่อนจะนำไปวิเคราะห์ข้อมูล


นอกจากนี้บนก้อนอิฐดังกล่าว ได้มีการสลักชื่อของกษัตริย์โบราณเอาไว้ ซึ่งนักวิจัยก็ได้นำข้อมูลนี้มาเพื่อบอกช่วงเวลาด้วย เช่น มีตัวอย่างจำนวนหนึ่งจากก้อนอิฐที่สลักชื่อของพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 (Nebuchadnezzar II) ซึ่งมีอายุอยู่ราว 604 - 562 ปีก่อนศริสตศักราช นักวิทยาศาสตร์พบว่าสนามแม่เหล็กโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งข้อมูลนี้สามารถสนับสนุนแนวคิดที่ว่า สนามแม่เหล็กโลกสามารถเพิ่มความเข้มได้อย่างรวดเร็ว


จากนั้นนักวิทยาศาสตร์ได้สร้างแผนที่ซึ่งแสดงการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลกในระยะเวลาต่าง ๆ และได้พบว่าในช่วง 1,050 - 550 ปีก่อนคริสตกาล เกิดช่วงเวลาประหลาดที่เรียกว่า "ความผิดปกติของสนามแม่เหล็กโลกยุคเหล็กของลิแวนไทน์ (Levantine Iron Age geomagnetic Anomaly)" โดยสนามแม่เหล็กโลกมีกำลังแรงผิดปกติในช่วงเวลานี้ แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร



ก้อนอิฐ 3,000 ปีเผยอดีตเมโสโปเตเมีย นักวิทย์พบการเกิดสนามแม่เหล็กโลกแปลกประหลาด

ที่มารูปภาพ Eurekalert


ศาสตราจารย์ มาร์ก อัลทาวีล หนึ่งในทีมวิจัยบอกว่า “โดยปกติเรามักจะหาอายุของวัตถุโบราณในยุคเมโสโปเตเมียผ่านเรดิโอคาร์บอน แต่ซากทางวัฒนธรรมบางส่วน เช่น อิฐและเซรามิก ไม่สามารถระบุอายุได้ง่าย เพราะไม่มีวัสดุอินทรีย์เป็นส่วนประกอบ ดังนั้นการศึกษานี้จึงช่วยสร้างพื้นฐานการหาอายุ ที่จะช่วยให้การศึกษาอื่น ๆ ในอนาคตสามารถหาอายุของวัตถุได้โดยใช้หลักการทางโบราณคดี” 


การศึกษานี้ช่วยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ของสนามแม่เหล็กโลกมากขึ้น เช่น ข้อมูลที่สนับสนุนว่าความเข้มของสนามแม่เหล็กโลกสามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หรือการค้นพบช่วงเวลาที่สนามแม่เหล็กโลกมีกำลังแรงกว่าปกติ แม้ในการศึกษานี้จะยังไม่ทราบสาเหตุ แต่ก็จะเป็นรากฐานให้การศึกษาครั้งต่อ ๆ ไปในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุอายุของวัตถุโบราณได้ดีขึ้นด้วย


การศึกษานี้ตีพิมพ์ในรายงานการประชุมของ National Academy of Sciences (PNAS) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2023


ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, Eurekalert

ที่มารูปภาพ Eurekalert


ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

เมโสโปเตเมีย
archaeomagnetism
สนามแม่เหล็กโลก
โบราณคดีtnntechreportstechreports