

สรุปข่าว
ประเทศอินเดียยังไม่หยุดพัฒนาต่อ หลังขึ้นแท่นประเทศที่ 4 ที่สามารถส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ โดยวางแผนจะส่งหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ไปโคจรในอวกาศด้วยยานอวกาศกากันยาน (Gaganyaan) ภายในปี 2024
หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์วิมมิตรา (Vyommitra)
สำหรับหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ตัวนี้มีชื่อว่าวิมมิตรา (Vyommitra) ซึ่งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกับมนุษย์เพศหญิง โดยเปิดตัวต้นแบบในงาน “การบินอวกาศและการสำรวจของมนุษย์ - ความท้าทายและแนวโน้มในอนาคต (Human Spaceflight and Exploration - Present Challenges and Future Trends)” เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา
มันจะจำลองการทำงานของมนุษย์ในอวกาศและโต้ตอบกับระบบควบคุมสำหรับช่วยชีวิตของยานอวกาศ ซึ่งมันมีความสามารถหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการจดจำมนุษย์, ตอบคำถาม, ทำการทดลองตามกำหนด, ควบคุมการทำงานของแผงสวิตช์และการตรวจสอบพารามิเตอร์ของยานอวกาศ ไปจนถึงการแจ้งเตือนและดำเนินการตามขั้นตอนการช่วยชีวิต
หนทางสู่การส่งมนุษย์ไปโคจรรอบดวงจันทร์
หากภารกิจส่งหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ตัวนี้ไปโคจรในอวกาศสำเร็จไปด้วยดี องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดียจะทำการส่งนักบินอวกาศชาวอินเดีย 3 คน เข้าสู่วงโคจรรอบโลกระยะทาง 400 กิโลเมตร ด้วยยานอวกาศกากันยาน พวกเขาจะทำการทดลองต่าง ๆ ในระหว่างภารกิจสั้น ๆ 3 - 7 วัน ก่อนจะกลับมาลงจอดในมหาสมุทรอินเดีย โดยเดิมทีแล้วภารกิจนี้มีแผนเปิดตัวในปี 2022 แต่การพัฒนายานอวกาศล่าช้าเนื่องจากการระบาดของโควิด-19
ปัจจุบัน ยานอวกาศกากันยานยังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของระบบช่วยชีวิต เพื่อให้ภายในยานอวกาศมีสภาพแวดล้อมเสมือนโลก เช่นเดียวกับการจัดเตรียมการหลบหนีฉุกเฉินสำหรับลูกเรือ และคุณลักษณะการจัดการลูกเรืออื่น ๆ เช่น การฝึกอบรมลูกเรือ, การพักฟื้น และการฟื้นฟูสมรรถภาพในอวกาศ
ข้อมูลจาก interestingengineer
ภาพจาก Wikipedia
ที่มาข้อมูล : -