
ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นผ่านเฟสบุ๊ค Thon Thamrongnawasawat ให้ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของปลา โดยระบุว่า ปลารู้ไหมว่าแผ่นดินไหว ถ้ารู้แล้วทำไง?
ผศ.ธรณ์ ระบุว่าได้ทราบบพฤติกรรมของปลาใต้น้ำขณะเกิดแผ่นดินไหวจากคนรู้จักที่ลงดำน้ำ และ ได้บันทึกภาพพฤติกรรมของปลาขณะดำน้ำที่หมู่เกาะสิมิลันในช่วงแผ่นดินไหว สิ่งที่พบไม่ใช่ปลาตัวเดียว แต่เป็นปลาหลายตัวที่พร้อมใจกันแนบพื้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แทบไม่เคยมีรายงานมาก่อน

สรุปข่าว
ผศ.ธรณ์ ชี้ว่าสำหรับพฤติกรรมการนอนราบไปกับพื้นหากเป็นปลาตัวเดียวทำอาจไม่แปลกอะไร แต่ที่พบคือปลาหลายตัวล้วนทำเช่นนั้น ลงไปนอนแนบกับพื้นทันที และที่เห็นชัดคือฝูงปลา ปกติช่วงกลางวันจะว่ายอยู่ในมวลน้ำ จะไม่ลงไปนอนติดพื้นพร้อมกันทั้งฝูง ต่อให้เป็นกลางคืนปลานอน ปลาก็แยกกันนอน ไม่รวมฝูงนอนในลักษณะนี้
“ปลารู้ว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น เพราะปลารับแรงสั่นสะเทือนใต้น้ำได้ดีมาก จากนั้นคงเป็นสัญชาตญาณ ทำให้ปลาลงไปนอนแนบพื้น เพาาะอาจเกิดกระแสน้ำปั่นป่วนหรือแม้กระทั่งสึนามิตามมาการนอนแนบพื้นของปลาก็เหมือนเวลาเราหลบภัยต้องหมอบราบกับพื้น หากลอยอยู่กลางน้ำมีความเสี่ยงที่จะโดนกระแสน้ำหรือคลื่นพัดพาไป” ผศ.ธรณ์ ระบุ
พฤติกรรมของปลาอาจเป็นสัญชาติญาณการเอาตัวรอดในทะเล เพราะในขณะที่ปลาเลือกจะกดตัวลง พะยูนกลับเลือกจะหนีไปยังน่านน้ำลึกทันที พฤติกรรมนี้ถูกบันทึกไว้ในเหตุการณ์สึนามิปี 2547 เช่นกัน ซึ่งอธิบายได้ว่าพะยูนรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ไวและเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยกว่า ต่างจากโลมาบางตัวที่ถูกคลื่นพัดไปติดในอ่างเก็บน้ำบริเวณเขาหลัก เนื่องจากคาดการณ์ทิศทางคลื่นผิดพลาด
ทั้งนี้แม้ว่าปลาจะรับรู้คลื่นสั่นสะเทือนก่อนมนุษย์ แต่ก็เป็นช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น “การพยากรณ์” แผ่นดินไหวล่วงหน้าเหมือนระบบเตือนภัยของมนุษย์ เพียงแต่พวกมันมีเวลาตอบสนองเร็วกว่าเรานิดหน่อยเท่านั้นเอง
“ถือเป็นหนแรกของไทยที่มีหลักฐานให้ดูกันชัดๆ ว่าปลาทำยังไงเมื่อแผ่นดินไหว อันที่จริง ในต่างประเทศก็แทบไม่มีภาพชัดเจนแบบนี้ครับ” ผศ.ธรณ์ระบุ
ที่มาข้อมูล : ผศ.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์
ที่มารูปภาพ : FB Thon Thamrongnawasawat

วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์