
กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) พร้อมด้วย นายพรพรหม ณ.ส.วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้แทนจาก สสส.นำทีมงานลงพื้นที่แปลงนาสาธิต หมู่ 9 แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพฯ ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศด้วยการส่งเสริมการจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังข้าว เพื่อลดการเผาในที่โล่งภาคการเกษตร ลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 สร้างสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นนายเทวรัตน์ บูรณ์สวัสดิ์พงษ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า การเผาไหม้ทางการเกษตรเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงในช่วงเดือน ธ.ค.-มี.ค ของทุกปี ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศ จากรายงานสถานการณ์การเผาในที่โล่งภาคเกษตรปี 2563-2566 โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ พบว่า พืชที่พบการเผามากที่สุด คือนาข้าว ซึ่งเกษตรกรบางรายยังมีความเชื่อว่าการเผาไหม้ไร่นาช่วยกำจัดตอซัง วัชพืช โรคพืช และใช้เตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกใหม่ มีค่าใช้จ่ายต่ำ แต่ความจริงทำให้ดินแน่นทึบ อัตราการซึมน้ำต่ำ ปริมาณไนโตรเจนที่ผิวดินลดลง ทำให้สูญเสียธาตุอาหารที่ควรจะหมุนเวียนลงดินในพื้นที่ปลูกข้าว เพิ่มค่าใช้จ่ายในการเกษตรในระยะยาว กระทรวงเกษตรฯจึงเร่งสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการเผาฟางและตอซัง โดยใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังข้าวทดแทน ถือเป็นแนวทางในการส่งคืนธาตุอาหารและอินทรีย์วัตถุลงสู่ดิน แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน

สรุปข่าว

กองบรรณาธิการ TNN