เปิดปฏิบัติการ “ฝนหลวง” โปรยน้ำเจาะอากาศสยบฝุ่น PM 2.5 ครองกรุงเทพฯ
นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่า ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งปฏิบัติการบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยการใช้เทคนิคลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศผกผันด้วยการโปรยน้ำ และโปรยน้ำแข็งแห้ง เพื่อเป็นการเจาะช่องบรรยากาศให้สามารถระบายฝุ่นละอองต่อไปได้ โดยแผนปฏิบัติการของกรมฝนหลวงฯ จะทำการบินทุกวันในช่วงเช้าตั้งแต่ 10.00 น. และช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา 14.00 น. ใช้เวลาบินประมาณ 20 ถึง 30 นาที
ทั้งนี้ปีนี้เป็นปีแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำการบินในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ โดยจะบูรณาการร่วมกับ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ในการกำหนดชั้นความสูงและกำหนดพื้นที่ในกรุงเทพชั้นในเพื่อทำปฏิบัติการลดฝุ่น ซึ่งบางจุดต้องมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางการบินของเครื่องบินเชิงพาณิชย์ชั่วคราว เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงได้อย่างปลอดภัย
สรุปข่าว
พื้นที่กรุงเทพชั้นในจะจำกัดระดับความสูงไม่เกิน 3,000 ฟุต และหากจะทำการบินในพื้นที่ดังกล่าวได้จะต้องมีการประสานงานล่วงหน้า เพื่อให้เครื่องบินจากสนามบินมีการเปลี่ยนเส้นทางบินชั่วคราว ประมาณ 10 ถึง 20 นาที หลังจากนั้นจึงจะสามารถใช้เส้นทางบินได้ตามปกติ นับเป็นปีแรกที่กรมฝนหลวงฯ กับ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเขตกรุงเทพชั้นในอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ข้อมูล ณ 22 ม.ค. 68) พบว่า ภายหลังปฏิบัติการฝนหลวง ค่าความเข้มข้นฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) มีแนวโน้มลดลง ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และจากการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษมากที่สุด พบว่าอันดับของกรุงเทพฯ จากเดิมที่มีค่าคุณภาพอากาศ (AQI) เท่ากับ 168 (อันดับที่ 14) เปลี่ยนเป็นค่าคุณภาพอากาศ (AQI) เท่ากับ134 (อันดับที่ 21) แสดงให้เห็นว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีค่ามลพิษทางอากาศลดลง เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวโน้มคุณภาพอากาศภาพรวมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะดีขึ้นตามลำดับก็ตาม แต่ยังต้องขอความร่วมมือจากประชาชนและเกษตรกร ร่วมกันลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลภาวะและฝุ่นละอองในอากาศ รวมทั้ง ลดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง
ที่มาข้อมูล : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ที่มารูปภาพ : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์