รู้จัก "ท้าวทองกีบม้า" (มารี กีมาร์) สมญาว่าเป็น "ราชินีแห่งขนมไทย"

รู้จัก "ท้าวทองกีบม้า" (มารี กีมาร์) สมญาว่าเป็น "ราชินีแห่งขนมไทย"

สรุปข่าว

ประวัติท้าวทองกีบม้า หรือ มารี กีมาร์ หนึ่งในตัวละครเรื่องพรหมลิขิต (Love Destiny 2) ละครภาคต่อจาก 'บุพเพสันนิวาส' ออกอากาศ EP1 ตอนแรกเมื่อคืนวันที่ 18 ต.ค.2566 ที่ผ่านมาซึ่งตัวละครนี้รับบทโดยซูซี่ สุษิรา แน่นหนา สาวลูกครึ่งไทยจีนอังกฤษ


ท้าวทองกีบม้า มีชื่อตัวว่า มารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา (โปรตุเกส: Maria Guyomar de Pinha) แต่มักเป็นที่รู้จักในชื่อ มารี กีมาร์ (ฝรั่งเศส: Marie Guimar;พ.ศ. 2201 หรือ พ.ศ. 2202 - พ.ศ. 2265) เป็นภริยาของพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางกรีกที่รับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


เธอมีชื่อเสียงจากการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าห้องเครื่องต้นวิเสทในราชสำนัก ตำแหน่ง "ท้าวทองกีบม้า" ว่ากันว่านางได้ประดิษฐ์ขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารโปรตุเกส มีทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง, ทองม้วน และหม้อแกงเป็นอาทิ จนได้สมญาว่าเป็น "ราชินีแห่งขนมไทย" แต่ก็มีกระแสคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า ขนมโปรตุเกสเหล่านี้แพร่หลายมาพร้อมกับกลุ่มชนเชื้อสายโปรตุเกสที่เข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยามากว่า 150 ปีก่อนที่นางจะเกิดเสียอีก เรื่องที่นางดัดแปลงขนมไทยจากตำรับโปรตุเกสเป็นคนแรกเห็นจะผิดไป


ท้าวทองกีบม้า มีชื่อเดิมว่า มารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา เป็นคริสตังเชื้อสายโปรตุเกส, เบงกอล และญี่ปุ่น[5] เป็นธิดาคนโตของฟานิก กียูมาร์ (Fanik Guyomar) บิดามีเชื้อสายโปรตุเกส, ญี่ปุ่น และเบงกอล ที่อพยพมาจากอาณานิคมโปรตุเกสในเมืองกัว กับมารดาชื่ออูร์ซูลา ยามาดะ (Ursula Yamada; ญี่ปุ่น: 山田ウルスラ) ลูกหลานผู้ลี้ภัยจากการเบียดเบียนศาสนาในญี่ปุ่น[6]


จากการเบียดเบียนศาสนาในญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2135 ตามคำบัญชาของโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ทำให้เซญโญราอิกเนซ มาร์แตงซ์ หรืออิกเนซ มาร์ตินซ์ (ญี่ปุ่น: イグネス・マルティンス) ย่าบ้างก็ว่าเป็นยายของท้าวทองกีบม้าจึงถูกนำตัวมาไว้ที่เมืองไฮโฟในเวียดนาม ระหว่างนั้นนางได้สมรสกับลูกหลานไดเมียวตระกูลโอโตโมะ ภายหลังครอบครัวของนางจึงได้อพยพมาลงหลักปักฐานในกรุงศรีอยุธยาอีกทอดหนึ่ง[3] แต่ข้อมูลบางแห่งก็ว่า ครอบครัวของนางไปอยู่ที่กัมพูชาก่อนถูกกวาดต้อนมาสู่กรุงศรีอยุธยาเมื่อคราวสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพบุกตีเมืองละแวก ในปี ค.ศ. 1593 จากข้อมูลนี้มารีอาอาจมีเชื้อสายเขมรหรือจามผ่านทางมารดาด้วยก็เป็นได้[8]


ครอบครัวของยามาดะเป็นตระกูลที่เคร่งครัดในคริสต์ศาสนา เซญโญราอิกเนซ มาร์แตงซ์ ผู้เป็นยาย อ้างว่านางเป็นหลานสาวของนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ (Saint Francis Xavier) นักบุญชื่อดัง ที่ได้ประทานศีลล้างบาปและตั้งศาสนนามให้ แต่อย่างไรก็ตามมารดาของท้าวทองกีบม้าค่อนข้างจะมีประวัติด่างพร้อยว่านางคบชู้กับบาทหลวงทอมัส วัลกัวเนรา (Thomas Vulguaneira) บาทหลวงเยสุอิตเชื้อสายซิซิลี และกล่าวกันว่าท้าวทองกีบม้า มิใช่ลูกของฟานิก สามีตามกฎหมายของนางยามาดะ แต่เกิดกับบาทหลวงรูปดังกล่าว ดังปรากฏใน Mémoire touchant l'enlèvement et la reddition de Madame Constance ความว่า[9]


"ส่วนนางอูร์ซูลนั้นเล่า พอเข้าพิธีแต่งงานกับสามีที่ถูกต้องนามว่าฟานิกได้ไม่ทันไร ก็ไปมีความสัมพันธ์กับบาทหลวงวัลกัวเนรา ซึ่งเป็นบาทหลวงชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายเยสุอิต ผู้ออกแบบการก่อสร้างป้อมค่ายกำแพงเมืองให้สยาม มาดามฟอลคอน [ท้าวทองกีบม้า] ซึ่งผิวขาวยิ่งกว่านายฟานิกและน้อง ๆ ของเธอ ถือกำเนิดในช่วงเวลานี้เอง ปรากฏว่าบาทหลวงวัลกัวเนราถูกเรียกตัวไปประจำที่มาเก๊าเพราะมีข่าวอื้อฉาวเรื่องนี้เอง ว่ากันว่าท่านบาทหลวงข้ามแม่น้ำไปยังหมู่บ้านญี่ปุ่นอีกฟากฝั่งหนึ่งเพื่อไปหานาง"


ทั้งยังปราฏใน Mémoire en forme de lettre d'un anglais catholique เช่นกัน มีเนื้อความว่า


"พ่อฟานิกคนนี้ เป็นคนผิวดำลูกครึ่งเบงกอลกับญี่ปุ่น [...] ที่ข้าพเจ้าระบุว่าเขาผิวดำนี้ มิพักต้องคัดค้านดอกว่าก็บุตรธิดาของเขาบ้างบางคนนั้นผิวขาว และคนอื่น ๆ กลับผิวคล้ำ ก็นี่ล่ะที่จะเป็นเหตุให้ต้องค้นหากันละสิ [...] ข้าพเจ้าจะบอกว่า นักบวชตาชาร์... ท่านทำให้ทุก ๆ คนหัวเราะกันอยู่เรื่อย เวลาที่พูดว่า มร. กงส์ต็องส์เรียกขานบาทหลวงเยสุอิตว่าเป็นพี่เป็นน้อง"


ทั้งนี้ไม่มีการชี้ชัดว่าฟานิกเป็นบิดาแท้จริงของมารีอาหรือไม่ ขณะที่งานเขียนของ อี. ดับเบิลยู ฮัตชินสัน (E. W. Hutchinson) ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยามสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจำนวนสองเล่ม ที่มีการกล่าวถึงประวัติชีวิตของท้าวทองกีบม้า คือ Adventure in Siam in the 17th Century. และ 1688 Revolution in Siam. โดยเมื่อกล่าวถึงฟานิกเขามักใช้คำว่า "ผู้เลี้ยงดู" หรือ "พ่อเลี้ยง" แต่เอกสารบางชิ้นก็ว่า ท้าวทองกีบม้าผิวคล้ำละม้ายฟานิก และเอกสารของบาทหลวงฝรั่งเศส ต่างไม่ลังเลใจที่จะเรียกฟานิกว่าเป็นบิดาของนาง


รู้จัก ท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์) สมญาว่าเป็น ราชินีแห่งขนมไทย





อ่านประวัติเพิ่มเติมฉบับเต็มที่นี่ https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%B2_(%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B5_%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C) 


ภาพ : วิกิพีเดีย / บุพเพสันนิวาส


ภาพ : ละครพรหมลิขิต / Ch3Thailand

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

บุพเพสันนิวาส
พรหมลิขิต
ท้าวทองกีบม้า
ประวัติท้าวทองกีบม้า
ขนมไทย
ราชินีขนมไทย