

สรุปข่าว
การประคบร้อน ประคบเย็น เป็นหนึ่งในวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วย ในประเภทฟกช้ำ ปวด บวม ตึงกล้ามเนื้อ อาการอักเสบ รวมทั้งเป็นไข้ แต่รู้หรือไม่ว่า การประคบร้อน ประคบเย็นนั้น วิธีการใช้ และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้ก็แตกต่างเช่นกัน
ล่าสุด สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ให้ความรู้หากเจ็บป่วยจากการทำงาน เมื่อไรควรประคบร้อน ตอนไหนควรประคบเย็น
ประคบร้อน
อุปกรณ์ที่ใช้
ใช้เจลประคบร้อน กระเป๋าน้ำร้อน ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อน
เมื่อใดที่ต้องประคบร้อน
- ปวดหลัง
- ปวดประจำเดือน
- ปวดกล้ามเนื้อ คอ บ่า หลัง น่อง
วิธีการประคบร้อน
การประคบร้อน จะเริ่มหลังจากมีอาการผ่านไปแล้ว 48 ชั่วโมง โดยใช้อุปกรณ์ที่เตรียมประคบลงไปบริเวณที่เกิดอาการปวด ให้นานประมาณ 15-20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง จะช่วยระบบหมุนเวียนเลือด ลดการปวดตึง
ข้อควรระวัง
ไม่ควรประคบด้วยความร้อนที่มากเกินไป เพราะจะทำให้รู้สึกแสบร้อนบริเวณที่ประคบ ไม่ควรประคบนานหรือถี่เกินไป และต้องไม่ประคบร้อนในบริเวณที่มีบาดแผลเปิดหรือมีเลือดออก เพราะจะยิ่งทำให้มีการอักเสบเพิ่มมากขึ้น หรือเกิดอาการแสบ เป็นแผลผุพองขึ้นมาได้
ประคบเย็น
อุปกรณ์ที่ใช้
ใช้เจลประคบเย็น ภาชนะใส่น้ำเย็น ถุงใส่น้ำผสมน้ำแข็ง
เมื่อใดที่ต้องประคบเย็น
- มีไข้ ตัวร้อน
- เลือดกำเดาไหล
- แผลจากของมีคม น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ที่ไม่รุนแรง
- มีอาการบวม บริเวณต่างๆ
- อาการปวดเฉียบพลัน
- รอยฟกช้ำ จากการกระแทก ปวด บาดเจ็บ
วิธีการประคบเย็น
การประคบเย็น จะทำภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังมีอาการบาดเจ็บ โดยประคบให้นานประมาณ 20-30 นาที วันละ 2-3 ครั้ง จะช่วยลดการอักเสบได้
เมื่อประคบร้อน ประคบเย็นแล้ว หากอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์ โดยผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิประกันสังคมเพื่อรับคำแนะนำจากแพทย์ในสถานพยาบาลที่ได้ลงทะเบียนไว้ โดยมีเงื่อนไข คือ ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเจ็บป่วย
อย่างไรก็ตาม กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในสถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิ ผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
ภาพจาก TNN ONLINE
ที่มาข้อมูล : -