20 มีนาคม 68 วันวสันตวิษุวัต กลางวัน และ กลางคืน ยาวเท่ากัน

20 มีนาคม 68  วันวสันตวิษุวัต กลางวัน และ กลางคืน ยาวเท่ากัน

สรุปข่าว

วสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) เป็นวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล โดยซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ และซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง เวลาขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์นับจากขอบบนของดวงอาทิตย์สัมผัสขอบฟ้า ซึ่งอาจทำให้ดูเหมือนไม่เท่ากัน

การเอียงของแกนโลกก่อให้เกิดฤดูกาลต่างๆ

ฤดูกาลบนโลกนั้น เกิดจากการเอียงของแกนโลกที่ทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวัน และกลางคืนก็ต่างกันด้วย

เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนเวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า แตกต่างกับฤดูหนาวเวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว

“วันครีษมายัน” ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ที่จะเกิดขึ้นในครั้งถัดไป

สำหรับปรากฏการณ์ต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ คือ “วันครีษมายัน”  (Summer Solstice) ในวันที่ 21 มิถุนายน 2568 เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ทำให้มีช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ส่งผลให้ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูร้อน และประเทศทางซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว


ที่มาข้อมูล : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ที่มารูปภาพ : AFP