วิจัยชี้ชัดสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำลายปอดไม่ต่างกับ "บุหรี่ธรรมดา"

วิจัยชี้ชัดสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำลายปอดไม่ต่างกับ "บุหรี่ธรรมดา"

สรุปข่าว

วันนี้ ( 17 ก.ย. 62 )นพ.โรเบิร์ต แกลตเทอร์ แพทย์ฉุกเฉิน ให้ข้อมูลว่าทุกครั้งที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ผู้สูบจะสูดละอองของเหลวเข้าไป ซึ่งไม่ใช่ไอน้ำอย่างที่คิดกัน แต่เป็นสารเคมีอัลดีไฮด์และแอลกอฮอล์ชนิดพิเศษที่ก่อตัวขึ้นระหว่างกระบวนการทำให้สารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้าร้อนจนกลายเป็นละอองควัน

ยิ่งไปกว่านั้น ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบสารเคมีที่เป็นส่วนผสมในบุหรี่ไฟฟ้า 150 ชนิด พบว่า สารละลายที่ใช้สำหรับบุหรี่ไฟฟ้าประกอบด้วยสารเคมีราว 200 ชนิดด้วยกัน ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยหน่วยงานของรัฐเพื่อการบริโภค แต่ไม่ใช่สำหรับการสูบหรือสูดไอระเหยแต่อย่างใด

การศึกษาชิ้นใหม่จากคณะแพทย์ศาสตร์ ของมหาวิทยาลัย University of North Carolina พบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดเกิดการเปลี่ยนแปลงเหมือนกับผู้ที่ป่วยด้วยโรคถุงลุมโป่งพองจากการสูบบุหรี่ทั่วไป

อาจารย์โรเบิร์ต ทาร์แรน หัวหน้าทีมวิจัยล่าสุดนี้ บอกว่า ได้พบโปรตีนที่เรียกว่า โพรทีเอส (protease) ในปอดของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าบางราย ซึ่งหากมีมากขึ้นก็จะเข้าทำลายปอดให้เสียหายได้ ซึ่งในการศึกษานี้พบว่า ปริมาณโพรทีเอส ของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า อยู่ในระดับที่เท่ากับผู้สูบบุหรี่ทั่วไปด้วย

อาจารย์ทาร์แรน ยังบอกด้วยว่า สารนิโคตินที่พบในบุหรี่ไฟฟ้า มีส่วนเชื่อมโยงกับระดับ protease ที่เพิ่มขึ้นในปอดของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าด้วย แม้ในการศึกษานี้ จะชี้ว่ายังเร็วเกินไปที่จะบ่งชี้ผลกระทบในระยะยาวสำหรับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า แต่สำหรับวัยรุ่นที่ปอดยังเติบโตไม่เต็มที่ ถือว่าเป็นช่วงวัยที่เสี่ยงกว่าวัยผู้ใหญ่ในการสูบบุหรี่ไฟฟ้า

ปัจจุบันศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC ออกมาเตือนให้ “พิจารณา” ที่จะไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนสมาคมการแพทย์อเมริกัน ออกคำเตือนประชาชนให้ “หลีกเลี่ยง” การใช้บุหรี่ไฟฟ้า เช่นเดียวกับสมาคมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในระดับมลรัฐ ออกมาเรียกร้องให้มีมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของวัยรุ่น จากตัวเลขของผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยด้วยโรคปอด ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

บุหรี่ไฟฟ้า
เลิกบุหรี่
บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายไหม
สูบบุหรี่ไฟฟ้า