
21 ก.พ. 2568 ที่โรงแรมสวนสนปฏิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา พร้อมด้วย พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ร่วมกันตั้งโต๊ะแถลงข่าว กรณีมีกลุ่ม สว.สำรอง ยื่นเรื่องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีฮั้วเลือก สว.ปี 2567 เป็นคดีพิเศษ
โดยนายมงคล กล่าวว่า เนื่องจากได้ติดตามข้อมูลข่าวสารมาโดยตลอด พบว่ามี สว. กลุ่มสำรองได้เตรียมเสนอเรื่องให้ดีเอสไอรับเรื่องราวเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง สว. ปี 2567 ให้เป็นคดีพิเศษ จึงรู้สึกว่าเรื่องนี้น่าจะมีอะไรที่ไม่น่าถูกต้อง เพราะอำนาจในการสอบสวนและตรวจสอบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ได้รับเรื่องไว้แล้ว อยู่ในระหว่างการตรวจสอบ
ทั้งนี้ พวกตนในฐานะสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการรับรองจาก กกต. ให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ให้ความร่วมมือกับกกต.มาโดยตลอด ซึ่ง กกต. ได้ดำเนินการติดตามสอบสวนมาโดยตลอด ขณะเดียวกันพวกเราซึ่งเป็นวุฒิสมาชิกเข้ามาอย่างถูกต้องตามเงื่อนไขตามระเบียบที่ กกต. กำหนดไว้ และทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาอย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้ไปฝักใฝ่หรือไปเกี่ยวข้องกับผู้อื่นผู้ใด ขณะที่อยู่ดีๆ ท่ามกลางความขัดแย้งต่างๆ ก็มีข่าวนี้ขึ้นมา ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ สว.จะดำเนินการตรวจสอบต่อไป หากเข้าข้อกฎหมายเรื่องใดมีความผิดปกติกับข้อกฎหมายเรื่องใดหรือเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดหรือบุคคลใดที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อวุฒิสภาของเรา เราก็จะดำเนินการตามกฏหมายอย่างที่สุด
“สว. เข้ามาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ตามเงื่อนไขและระเบียบที่ กกต.กำหนด และทำหน้าที่ของ สว. อย่างตรงไปตรงมา ไม่ฝักใฝ่หรือเกี่ยวข้องกับผู้ใด ซึ่งการตรวจสอบของ กกต. นั้นเป็นไปตามอำนาจและหน้าที่ของ กกต. ส่วนหน่วยงานที่ไม่ีอำนาจหน้าที่ที่ออกมาให้ข่าวนั้น ทำให้ สว. ต้องมาปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรี” นายมงคล ระบุ

สรุปข่าว
ด้าน พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. กล่าวว่า ได้ตรวจสอบในเรื่องข้อกฎหมายแล้วในเรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่ผ่านมา ซึ่งเราได้สมาชิกวุฒิสภาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และรัฐธรรมนูญยังกำหนดไว้ว่าให้เป็นอำนาจของ กกต.ในการพิจารณาในการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา แต่ทุกวันนี้มีข่าวที่ทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในเรื่องของการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาจาก 20 กลุ่มอาชีพ ที่จะเข้ามาพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ
ฉะนั้น จึงอยากเรียนว่าขณะนี้มีการดำเนินการจากผู้ร้องเรียนที่ได้ไปยื่นเรื่องให้ดีเอสไอ ซึ่งยังไม่ทราบว่าอยู่ในขั้นตอนไหน แต่ที่จากการแถลงข่าวก็ทราบว่าอยู่ในขั้นตอนที่จะพิจารณาว่าจะรับเรื่องหรือไม่ แต่หากพูดตามขั้นตอนของกฎหมายนั้น การดำเนินการของภาครัฐต้องดำเนินการอยู่ในขอบเขตของอำนาจหน้าที่ ตราบใดที่หน่วยงานรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้มอบอำนาจหน้าที่จะมาพูดในลักษณะที่ทำให้สมาชิกวุฒิสภา โดยรวมเกิดความไม่เชื่อมั่นใน กกต.
จึงอยากฝากไปถึงผู้ที่อยู่เกี่ยวข้องในการรับเรื่องและดำเนินการ ไม่ว่าจะรับเรื่องจากหน่วยงานใดๆ ว่าการดำเนินการต่างๆ ต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้สัมภาษณ์ ก็พูดในลักษณะที่ทำให้สมาชิกวุฒิสภาเกิดความเสื่อมเสียในสังคม พูดอาจจะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นและเสื่อมเสียของสมาชิกวุฒิสภาได้ ยืนยันว่าเราได้มาในรูปแบบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
“สว. ทุกคนมาโดยสุจริต โปร่งใส มาในการแข่งขันที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนข้อกล่าวหา อั้งยี่ ซ่องโจร เป็นการให้ข่าวที่ผิดไป ขณะนี้ได้เตรียมรวบรวมข้อมมูล และข้อกฎหมาย เพื่อแก้ข้อกล่าวหาให้กับ สว.ทั้งหมด“ พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ ระบุ
ขณะที่ พ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ สว. กล่าวว่า ย้ำว่า สว. ปัจจุบันมาโดยรัฐธรรมนูญไม่ได้มาโดยสมาคมหรืออั้งยี่ ซึ่งข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นนั้นเกินเลยจากข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม สภา คณะรัฐมนตรี องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ การกล่าวหาว่าองค์กรของรัฐที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนประชาชนเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คือ การใส่ความ
“มันผู้ใดก็ตามที่ใส่ความ สว. ทำให้เกิดดวามเสียหาย บั่นทอนความเชื่อมั่นในกระบวนการนิติบัญญัติคนที่ทำต้องรับผิดชอบสิ่งที่ตนเองกระทำ ทั้งหน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารบ้านเมือง ต้องรรับผิดชอบ ในการกระทำของตนเอง ส่วนผู้ร้อง ที่เคยเข้ากระบวนการคัดเลือกเป็น สว. แต่เข้ามาไม่ได้ กลับมากล่าวหาว่าเป็นกระบวนการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ต้องมองย้อนกลับไปว่า ท่านทำตามกติกาแต่ทำไม่ได้ ก็มากล่าวหาว่าไม่ชอบกฎหมายดังนั้นต้องรับผิดชอบ” พ.ต.อ.กอบ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีกระบวนการจัดตั้ง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวิธีการฉ้อฉลเพื่อทำให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญที่ใช้ปัจจุบัน แก้ปัญหาวิกฤตรัฐธรรมนูญคือ ให้คนดีเข้ามาปกครองบ้านเมือง แต่กลับมีกระบวนการนี้กลับมาเพื่อทำให้เกิดวิกฤต ทำให้คนกระด้างกระเดื่อง ดังนั้น สว. ต้องอยู่เพื่อให้การดำรงอยู่ของกฎหมายเป็นไปอย่างผาสุข สงบเรียบร้อย ดังนั้นใครบังอาจที่บิดเบือน ฉ้อฉลต้องรับผิดชอบ
“มีกลุ่มคนไม่สำนึก นำพา ไม่เคารพกติกา กฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมืองเพื่อสร้างให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ การใช้กฎหมายยอาญามาตรา 116 อ้างว่ากลุ่มที่สมัคร สว.ที่รับรองจาก กกต. แล้ว ว่าไปยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง หากมองโดยหลักของกฎหมายที่ถูกต้อง คนที่ทำเรื่องนี้ไม่ใช่ สว. แต่คนที่ทำคือ คนที่กล่าวหานำเรื่องไปสู่ดีเอสไอ คือ คนที่ขัดขวางความมั่นคง บั่นทอนระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” พ.ต.อ.กอบ ระบุและว่า คนที่จะถูกตรวจสอบ คือคนที่ไม่มีหน้าที่ แต่กลับก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองจะเป็นคนที่ต้องถูกดำเนินคดี และตรวจสอบว่ามาอย่างไรมีองค์กรใดอยู่เบื้องหลังที่ทำให้เกิดความปั่นป่วน
พล.อ.เกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องดังกล่าวโยงอยู่กับกระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้น ความพยายามบางอย่างมองว่าไม่ค่อยปกติ ฉะนั้น จากนี้ไปสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง จะใช้กระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกันในการกล่าวโทษดำเนินคดีในประเด็นต่างๆ และจะลงชื่อกันอภิปรายไว้วางใจผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ต่อไป.