จับตานายกฯ คนใหม่เยอรมนี "โอลาฟ โชลซ์" เผชิญความท้าทายหลังเข้ารับตำแหน่ง
จับตานายกฯ คนใหม่เยอรมนี รับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปมขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
---ผู้นำคนใหม่แห่งเยอรมนี---
โอลาฟ โชลซ์ วัย 63 ปี นำพรรคโซเชียล เดโมแครต หรือ SDP คว้าชัยในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา และถูกมองว่า น่าจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของเยอรมนี เพราะเขามีบทบาททางการเมืองในรัฐบาลของนางอังเกลา แมร์เคิลมายาวนานในฐานะรองนายกรัฐมนตรี
จากนั้น โชลซ์เจรจาตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคกรีนส์ และพรรคฟรี เดโมแครต อยู่นานเกือบ 3 เดือน ก่อนลงนามในข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลผสมไปเมื่อวันอังคาร (7 ธันวาคม) และเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งไปเมื่อวานนี้ (9 ธันวาคม) หลังจากสมาชิกรัฐสภาเยอรมนี หรือ บุนเดสถาก ที่พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 3 ครองเสียงข้างมากอยู่ในขณะนี้ ลงคะแนนเลือกเขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
---รัฐมนตรีชุดแรกที่มีผู้หญิงเท่ากับผู้ชาย---
การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของ โอลาฟ โชลซ์ ยังถือเป็นการรับไม้ต่อจากนางอังเกลา แมร์เคิล ที่นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมานานถึง 16 ปี และตอนนี้ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีมาเกือบ 3 เดือน นับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกันยายน
นอกจากนี้ ยังเรียกได้ว่าเป็นการสิ้นสุดงานทางการเมืองตลอด 31 ปีของแมร์เคิลด้วย เธอกล่าวว่า จากประสบการณ์ส่วนตัว การได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้ เป็นช่วงเวลาที่ซาบซึ้งมาก และนี่เป็นงานที่สวยงามที่สุดอีกงานหนึ่ง และขอให้โอลาฟ โชลซ์โชคดี
ส่วนคณะรัฐมนตรีทั้ง 16 คนเข้า รับตำแหน่งเมื่อวานนี้ (9 ธันวาคม) กลายเป็นคณะรัฐมนตรีชุดแรกของเยอรมนีที่มีผู้หญิงเท่ากับผู้ชาย โดยแอนนาเลนา แบร์บอค ผู้นำพรรคกรีนส์ รับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ
---ความท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่มีอะไรบ้าง---
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลผสมชุดใหม่ของเยอรมนีที่มีโชลซ์เป็นผู้นำ ประกาศว่า จะรับมือกับปัญหาโลกร้อนอย่างเข้มงวด ด้วยการประกาศแผนยกเลิกการใช้พลังงานจากถ่านหินก่อนเป้าที่วางไว้ และมุ่งเน้นการใช้งานพลังงานสะอาด
แต่ภารกิจเร่งด่วนก่อนหน้านั้น น่าจะเป็นการรับมือการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ หลังจากพบผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นต่อเนื่องจนน่าตกใจ ช่วง 24 ชั่วโมงล่าสุด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 69,601 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 527 คน มากที่สุดนับตั้งแต่ฤดูหนาวปีที่แล้ว
สำนักข่าว BBC ยังมองว่า ความกังวลว่ารัสเซียจะบุกยูเครน ก็เป็นอีกความท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่เยอรมนี
ที่ผ่านมา แมร์เคิลถูกกล่าวหาเสมอว่า เห็นแก่การค้าก่อนการเมือง เนื่องจากเธอมีความสัมพันธุ์ที่ค่อนข้างอบอุ่นกับรัสเซียและจีน
ขณะที่รัฐบาลของโชลซ์ ถูกคาดหวังว่าจะค่อนข้างเข้มงวดขึ้น แม้ว่าธุรกิจในเยอรมนีจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ หากเกิดความตึงเครียดขึ้น แต่ก็สามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่กำลังจับตารัสเซียกับจีนอย่างใกล้ชิด และต้องการให้มหาอำนาจในยุโรปอยู่ข้างสหรัฐฯ รวมถึงแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อทั้งสองชาติ
---ปมการเมืองระหว่างประเทศ---
แต่การจะกระชับสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับสหรัฐฯ โชลซ์ต้องผ่านบททดสอบจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน เสียก่อน ซึ่งเขาได้ทดสอบโชลซ์ก่อนที่จะเขาพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเสียอีก
นั่นคือ สหรัฐฯ ต้องการให้เยอรมนี ยกเลิกโครงการ Nord Stream 2 ที่เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทของรัสเซียกับบริษัทเยอรมัน และอีกหลายประเทศ สร้างท่อส่งก๊าซจากรัสเซียลอดทะเลบอลติกขึ้นฝั่งที่เยอรมนี
สหรัฐฯ มองว่า หากเยอรมนีหรือ EU นำเข้าก๊าซจากรัสเซีย ก็เท่ากับผูกโยง พึ่งพาเศรษฐกิจการเมืองกับรัสเซียมากขึ้น ขณะที่รัสเซียมองว่า ที่สหรัฐฯ พยายามขวางก็เพราะหวังเป็นผู้ขายก๊าซแก่ EU เสียเอง
โดยประเด็นนี้ มีการโต้แย้งกันทั้งในและต่างประเทศ และเป็นประเด็นที่สร้างความแตกแยก แม้กระทั่งภายในรัฐบาลของโชลซ์เอง
แม้ว่ารัสเซียจะปฏิเสธแผนการบุกรุกประเทศเพื่อนบ้าน แต่แมร์เคิลก็เห็นด้วยกับโจ ไบเดนของสหรัฐฯ และผู้นำของสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอิตาลี ว่า พวกเขาจะใช้กลยุทธ์ร่วมกันเพื่อตอบโต้ด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจที่รุนแรงต่อรัสเซีย รวมถึงโครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ของรัสเซียไปยังเยอรมนี ซึ่งสร้างเสร็จแล้ว แต่ยังรอการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านพลังงานของเยอรมนี
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยว่า พวกเขาได้บรรลุความเข้าใจกับเยอรมนีแล้วว่าการปิดท่อส่งก๊าซเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญ ขณะที่ผู้นำคนใหม่เยอรมนี ระบุว่า จะไม่อยู่เฉยหากรัสเซียบุกยูเครน และมีออกมาเตือนรัสเซียแล้ว
---รัสเซีย-ยูเครน หนึ่งในความท้าทายของเยอรมนี---
ขณะที่ ข้อความแสดงความยินดีจาก ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ระบุว่า เขาตั้งตารอการเจรจาที่สร้างสรรค์ และหวังว่าเยอรมนีจะยอมรับว่า “ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการเจรจา”
แม้โชลซ์จะต้องการใกล้ชิดกับฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสที่มีจุดยืนไม่ต้องการสร้างสัมพันธ์ใกล้ชิดนอก EU ซึ่งแตกต่างจากที่ชาวเยอรมันต้องการ โดยผู้นำคนใหม่ของเยอรมนีต้องการให้สหภาพยุโรปมาก่อน ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่อยากให้เยอรมนีมีบทบาทมากขึ้นในสหภาพยุโรป
โชลซ์จะหารือ NATO และสัญญาว่า จะเพิ่มการสนับสนุน NATO แต่น้อยกว่าที่สหรัฐฯ ต้องการ
ทั้งนี้ เยอรมนีไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ แต่สามารถใช้ระเบิดของสหรัฐฯ บรรทุกบนเครื่องบินของเยอรมันได้ หากโชลซ์ ไม่เห็นด้วย สหรัฐฯ อาจย้ายระเบิดไปยังประเทศอื่น ใกล้กับรัสเซียมากขึ้น ซึ่งจะทำให้รัสเซียไม่พอใจ
โชลซ์จะเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก ในฐานะนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ด้วยการไปเยือนกรุงปารีส ของฝรั่งเศส และกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม ในวันศุกร์นี้ (10 ธันวาคม) โดยเขาและรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ จะต้องแสดงท่าทีตอบสนอง ต่อความกังวลที่รัสเซีย สร้างกองทัพใกล้ชายแดนยูเครน