ผู้นำโลกทุ่มเงินช่วยเหลืออัฟกานิสถาน ก่อนประเทศล่มสลาย เกิดวิกฤตมนุษยธรรม
ผู้นำและรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม G-20 ร่วมประชุมออนไลน์ ประกาศจะให้ความช่วยเหลืออัฟกานิสถาน เพื่อไม่ให้เผชิญกับภัยพิบัติทางเศรษฐกิจและมนุษยธรรมครั้งใหญ่
ผู้นำกลุ่ม G-20 เห็นพ้องต้องกันว่า จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่อัฟกานิสถานหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวอัฟกัน แต่เน้นย้ำว่า นี่ไม่ใช่การรับรองรัฐบาลตาลีบันแต่อย่างใด
◾◾◾
🔴 อัฟกาฯ เสี่ยงเผชิญวิกฤตมนุษยธรรม
ก่อนที่กลุ่มตาลิบันจะยึดอำนาจการปกครองอัฟกานิสถาน ประเทศนี้ได้รับช่วยเหลือจากนานาชาติคิดเป็นสัดส่วนถึง 75 % ของค่าใช้จ่ายของภาครัฐ
แต่ปัจจุบัน รัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งสั่งตัดเงินสนับสนุน และอายัดทรัพย์สินกว่า 300,000 ล้านบาทของธนาคารกลางอัฟกานิสถานในสหรัฐฯ เนื่องจากไม่ต้องการให้รัฐบาลตาลีบันใช้เป็นท่อน้ำเลี้ยงแก่กลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ
ผลที่ตามมา คือระบบเศรษฐกิจของอัฟกานิสถานขาดสภาพคล่อง ทำให้ชาวอัฟกันต้องเผชิญความเดือดร้อนอย่างมาก แม้จะมีการเริ่มส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในอัฟกานิสถานบ้างแล้วเมื่อเดือนที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป อัฟกานิสถานจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางมนุษยธรรมและภัยพิบัติทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นประชาชนนั่นเอง
องค์การสหประชาชาติ หรือ UN เรียกร้องให้นานาชาติเร่งให้ความช่วยเหลืออัฟกานิสถานโดยด่วน ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอัฟกานิสถาน เรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกการอายัดเงินทรัพย์สินของธนาคารกลางอัฟกานิสถานด้วย
◾◾◾
🔴 ผู้นำ G20 ให้คำมั่นช่วยอัฟกานิสถาน
การประชุมออนไลน์ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 20 หรือ G-20 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (12 ตุลาคม) ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศร่ำรวย ร่วมกันหารือถึงผลกระทบ หลังสหรัฐฯ ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน และกลุ่มตาลีบันเข้าปกครองประเทศ
นายกรัฐมนตรี มาริโอ ดรากี ของอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพหมุนเวียนของกลุ่ม เป็นผู้ผลักดันให้มีการประชุมเกิดขึ้น
UN เรียกร้องให้ผู้นำโลกนำเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอัฟกานิสถาน ขณะที่ ผู้นำและรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม G-20 ที่ร่วมประชุมออนไลน์ ประกาศว่า จะให้ความช่วยเหลืออัฟกานิสถาน ไม่ให้เผชิญกับภัยพิบัติทางเศรษฐกิจ
◾◾◾
🔴 อัดฉีดเงินเกือบ 4 แสนล้านบาท
เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป จะมอบเงิน 1 พันล้านยูโร หรือประมาณ 387,000 ล้านบาท ให้กับอัฟกานิสถานและประเทศเพื่อนบ้านที่รับผู้ลี้ภัยจากอัฟกานิสถาน
นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่ใกล้จะก้าวลงจากตำแหน่งแล้ว ประกาศย้ำคำมั่นว่า จะมอบเงินช่วยเหลือ จำนวน 600 ล้านยูโร หรือประมาณ 23,205 ล้านบาท แก่อัฟกานิสถาน
แมร์เคิล ระบุว่า ไม่ควรปล่อยให้ประเทศนี้ที่ตกอยู่ในความโกลาหล เพราะไม่มีใครได้ประโยชน์ หากระบบการเงินทั้งหมดในอัฟกานิสถานล่มสลาย และจะทำให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมดำเนินต่อไปไม่ได้
อีกทั้งการปล่อยให้ประชาชนกว่า 40 ล้านคน ต้องตกอยู่ในความโกลาหลเพราะไม่มีไฟฟ้าใช้ หรือไม่มีระบบการเงิน ไม่ใช่เป้าหมายของประชาคมโลก
พร้อมกับระบุว่า รัฐบาลตาลีบันต้องให้สิทธิ์การเข้าถึงทุกหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติที่ให้ความช่วยเหลือ และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเคารพสิทธิเด็กผู้หญิงและสตรีด้วย
นายมาริโอ ดรากิ นายกรัฐมนตรีอิตาลี ระบุว่า ประเทศกลุ่ม G20 ต้องติดต่อกับกลุ่มตาลีบัน เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนอัฟกันเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายถึงการรับรองรัฐบาลตาลีบันแต่อย่างใด
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ย้ำว่า ควรให้ความช่วยเหลืออัฟกานิสถานผ่านองค์กรอิสระระหว่างประเทศ แต่ไม่ควรส่งตรงถึงกลุ่มตาลีบัน
◾◾◾
🔴 ประชุมระดับสูงสหรัฐฯ-ตาลีบัน
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประชุมแบบเผชิญหน้ากับผู้แทนระดับสูงของกลุ่มตาลีบันที่ กรุงโดฮา ของการ์ตา เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่สหรัฐฯถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน
สหรัฐฯ และฝ่ายต่าง ๆ จะกดดันตาลีบัน ให้รับรองความปลอดภัยของพลเมืองชาวอเมริกัน และคนอื่นๆ ที่เดินทางออกจากอัฟกานิสถาน, ปล่อยตัวชาวอเมริกันที่ถูกจับตัวเรียกค่าไถ่ และต้องการให้ตาลีบันรับปากว่า จะไม่ปล่อยให้อัฟกานิสถาน เป็นแหล่งซ่องสุมกำลังของผู้ก่อการร้าย อย่างอัลกอิดะห์ หรือ กลุ่มหัวรุนแรงอื่น ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ จะกดดันตาลีบัน เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เข้าถึงประชาชนมากขึ้น
ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ในครั้งนี้ ปากีสถานและอิหร่านไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมด้วย ขณะที่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม แต่ส่งตัวแทนเข้าร่วมแทน
◾◾◾
🔴 จีนช่วยเหลือราว 1 พันล้านบาท
นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นตัวแทนฝ่ายจีน ซึ่งจีนประกาศให้เงินช่วยเหลือแก่อัฟกานิสถานอย่างเร่งด่วน 200 ล้านหยวน หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท เรียกร้องให้ ประชาคมโลกสนับสนุนด้านมนุษยธรรม ช่วยเหลือการระบาดของโควิด-19 เคารพในอำนาจอธิปไตย เอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดนของอัฟกานิสถาน
พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ยกเลิกการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวต่ออัฟกานิสถาน และสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศควรอำนวยความสะดวกในการบรรเทาความยากจนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ย้ำทัศนคติไม่อดทนต่อการก่อการร้าย
ผู้จัดประชุมได้เชิญตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น องค์การสหประชาชาติ สหภาพยุโรป ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มาร่วมหารือ เพื่อหวังจะได้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมากที่สุด
◾◾◾
🔴 สถานการณ์ในอัฟกานิสถานเลวร้ายลง
หลังกลุ่มตาลีบันประกาศยึดครองประเทศ ธนาคารต่าง ๆ ก็ปิดทำการเป็นเวลาหลายวัน และแม้ขณะนี้ธนาคารหลายแห่งได้เปิดทำการแล้ว แต่การเข้าถึงเงินสดก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดี
ธุรกิจหลายแห่งต้องปิดตัวลง เพราะเจ้าของกิจการหนีออกนอกประเทศ คนที่มีงานทำจำนวนมากไม่ได้รับเงินเดือน
ผู้หญิงที่เคยมีงานทำและต้องเลี้ยงดูครอบครัวจำนวนมาก ไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป
ที่กรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศ ประชาชนหลายร้อยคน ต้องอาศัยอยู่ในเต๊นท์ในที่โล่งแจ้ง ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นในฤดูหนาวที่คืบคลานเข้ามา
ความช่วยเหลือด้นการพัฒนาจากต่างประเทศ ล้วนถูกแช่แข็ง ทำผู้ที่ทำงานในโครงการพัฒนาเหล่านี้กำลังตกงานด้วยเช่นกัน
เมื่อไม่มีเงินสดในตลาด ราคาสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งอาหารด้วย เรียกได้ว่าสถานการณ์ที่ยากลำบากจากสงครามและและถูกซ้ำเติมด้วยภัยแล้งนั้นเลวร้ายลงมาก
นอกจากประเด็นดังกล่าว หัวข้อหลักที่ผู้นำกลุ่ม G-20 หยิบขึ้นมาหารือกัน เช่น วิธีต่อสู้รับมือกับการก่อการร้าย การรับประกันเสรีภาพในการเดินทางทั้งภายในประเทศและการเดินทางออกจากอัฟกานิสถาน สำหรับชาวอัฟกันและกลุ่มองค์กรเอ็นจีโอ รวมทั้งสภาพความเป็นอยู่ของผู้หญิง ซึ่งนายกรัฐมนตรีอิตาลีย้ำว่า เป็นประเด็นที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ
ในการประชุม G-20 ครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันถึงความจำเป็นในการให้ความช่วยเหลืออัฟกานิสถานเพิ่มเติม
เรียกว่าเป็นความท้าทายต่อ ประชาคมโลกเป็นอย่างมาก ที่จะต้องเร่งช่วยเหลือประชาชนชาวอัฟกัน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการรับรองรัฐบาลกลุ่มตาลีบัน