TNN วินาศกรรม 9/11 และ โควิด-19 ได้เปลี่ยนอุตสาหกรรมการบินไปตลอดกาล

TNN

World

วินาศกรรม 9/11 และ โควิด-19 ได้เปลี่ยนอุตสาหกรรมการบินไปตลอดกาล

วินาศกรรม 9/11 และ โควิด-19 ได้เปลี่ยนอุตสาหกรรมการบินไปตลอดกาล

วินาศกรรม 9/11 เปลี่ยนอุตสาหกรรมการบินไปตลอดกาล มาวันนี้ ทั่วโลกกำลังเผชิญโรคระบาดครั้งใหญ่ แล้วการก่อการร้าย และ "โควิด-19" จะกระตุ้นอนาคตการบินเข้มงวดอีกแค่ไหน?

การโจมตีของผู้ก่อการร้าย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ในสหรัฐฯ กลายเป็นวินาศกรรมสะเทือนโลก พร้อมกับประโยคที่ว่า “พวกเราทุกคนเป็นชาวอเมริกัน” นโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับเปลี่ยนเพื่อต่อกรกับการก่อการร้าย ขณะที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีจะเข้มแข็งขึ้นหรือพังทลาย ขึ้นอยู่กับจุดยืนของรัฐบาล


เรามาสำรวจกันว่าเหตุการณ์นี้ เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการบินอย่างไร รวมถึงภัยคุกคามที่ภาคธุรกิจยังคงเผชิญอยู่ แม้ผ่านมาถึง 20 ปีแล้วก็ตาม


มาตรการสกัดภัย “คุกคาม”


เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2017 พนักงานที่เคาน์เตอร์เช็คอินของสายการบิน Etihad Airways ในสนามบินซิดนีย์ ปฏิเสธที่จะนำกระเป๋าเดินทางที่ทั้งใหญ่และหนัก ของผู้โดยสารคนหนึ่งที่จะเดินทางไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE


การตัดสินใจของพวกเขาอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัย ที่นำมาใช้หลังการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์ 9/11 ในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงข้อจำกัดเรื่องน้ำหนักสัมภาระ ขนาดและรูปทรง รวมถึงการตรวจสอบสัมภาระที่โหลดใต้ท้องเครื่อง


พวกเขาไม่รู้เลยว่า การกระทำเช่นนั้น ช่วยขัดขวางการวางระเบิดที่เชื่อมโยงกับกลุ่ม IS ไว้ได้


เนื่องจากกระเป๋าสัมภาระที่ เอเมอร์ คายาต ครอบครองนั้น มีระเบิดซุกซ่อนอยู่ เขาถูกจับเมื่อเดินทางถึงเลบานอน โดยคาเล็ดและมาห์มูด พี่น้องของเขาในออสเตรเลีย ถูกตัดสินว่ามีความผิด ฐานแอบวางระเบิดไว้ในกระเป๋าของเอเมอร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อจุดชนวนระเบิดกลางอากาศ



ป้องกันก่อน “ภัย” มาเยือน


เมื่อประมาณห้าเดือนก่อน รัฐบาลสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร สั่งห้ามนักเดินทางจากบางเมืองในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ไม่ให้พกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเกรงว่าอาจมีการซุกซ่อนวัตถุระเบิดขึ้นเครื่องบิน


เหตุการณ์ในซิดนีย์ รวมถึงการห้ามใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นตัวอย่างที่อุตสาหกรรมการบินยกระดับความปลอดภัย และเป็นความพยายามระดับโลกในการขัดขวางการก่อการร้าย หลังเหตุการณ์ 9/11 ที่ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินสี่ลำ และบังคับให้บินชนตึกสูง คร่าชีวิตผู้โดยสาร 246 คน รวมถึงคนบนภาคพื้นดินกว่า 2,731 คน ซึ่งเป็นการโจมตีที่เลวร้ายที่สุดบนผืนแผ่นดินสหรัฐฯ


เหตุการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดมาตรการรักษาความปลอดภัยแบบใหม่ ที่ในตอนแรกนักท่องเที่ยวต่างคิดว่ายุ่งยาก แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นความเคยชิน ขณะที่ปี 2018 อุตสาหกรรมการบินฟื้นตัวขึ้น ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 1.4 พันล้านคน


นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ถึงอย่างนั้นแล้ว ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายไม่ได้หายไปไหน อีกทั้ง มาตรการในยุคโควิด-19 นำไปสู่การกำหนดกฎเกณฑ์เพิ่มเติม ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมความปลอดภัยในการบินอีกครั้ง และอาจดีขึ้นกว่าแต่ก่อน



“อุตสาหกรรมการบินต้องก้าวนำภัยคุกคาม”


ไฟซาล อับดุล ราห์มาน นักวิจัยจากสถาบัน RSIS ในสิงคโปร์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ เคยมีเหตุการณ์ก่อการร้ายระหว่างประเทศที่เลื่องลือไปทั่ว เกี่ยวกับการจี้เครื่องบินและระเบิดแสวงเครื่องติดยานพาหนะ


แต่เหตุการณ์ 9/11 ถือเป็นนวัตกรรมของยุทธวิธีและกลยุทธ์ ที่หลีกเลี่ยงมาตรการรักษาความปลอดภัยด้านการบินที่มีอยู่ จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลทั่วโลก เร่งพัฒนาระบบข่าวกรองและจัดทำแผนรับมือ ในกรณีที่อาจมีเหตุการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นกับเครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์ลำอื่น ๆ


โอเรน แททเชอร์ สถาปนิกออกแบบสนามบิน กล่าวว่า หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงด้านความปลอดภัย รวมถึงการกำหนดพื้นที่หวงห้าม คือ ประตูขึ้นเครื่อง ซึ่งอนุญาตเฉพาะผู้โดยสารที่ออกตั๋วเท่านั้น อีกทั้ง ยังเสริมการป้องกันภายในห้องนักบิน โดยเฉพาะประตู ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่มีมานานแล้ว แต่เพิ่งได้รับความสนใจหลังเกิดเหตุการณ์จี้เครื่องบิน


ส่วนไฟซาล จาก RSIS ระบุว่า รัฐบาลยังปรับเปลี่ยนขั้นตอนการคัดกรองล่วงหน้าด้วยอุปกรณ์ไฮเทค เพื่อตรวจจับอาวุธและวัตถุระเบิด รวมถึงแบ่งปันข้อมูลของนักเดินทางใหักับเจ้าหน้าที่


โทนี่ ไทเลอร์ หัวหน้าสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) กล่าวว่า เหตุการณ์ 9/11 พิสูจน์ให้อุตสาหกรรมการบินเห็นว่า “พวกเขาจำเป็นต้องก้าวนำภัยคุกคาม” อยู่เสมอ



สิ่งที่เปลี่ยนแปลงหลังเหตุการณ์ 9/11


แททเชอร์ กล่าวว่า มาตรการที่เพิ่มขึ้น ท้าทายพื้นที่สนามบินที่มีอย่างจำกัด รวมถึงมีผลกระทบต่อการออกแบบสนามบิน โดยเฉพาะการคัดกรองสัมภาระที่จุดเช็คอิน ซึ่งกลายเป็นข้อบังคับไปโดยปริยาย


“มันเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเครื่องที่ใช้ตรวจสอบมีขนาดใหญ่โต” แททเชอร์กล่าว


ขณะที่สนามบินที่ทันสมัยกว่า เช่น ฮ่องกง มีเทคโนโลยีที่ว่าอยู่แล้ว แต่ในสนามบินที่สร้างมานานแล้ว กลับเป็นไปได้ยากที่จะติดตั้งเครื่องตรวจสอบดังกล่าว ในขณะเดียวกัน สนามบินบางแห่งปรับปรุงหรือขยายอาคารผู้โดยสารเก่า เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบใหม่นี้


จิม เชอร์รี ที่ปรึกษาด้านการบินเชิงกลยุทธ์ของ Arup บริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม กล่าวว่า ขั้นตอนตรวจสอบความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ได้เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้โดยสาร เนื่องจากตอนนี้พวกเขาต้องไปถึงสนามบิน ก่อนขึ้นบินเป็นเวลาหลายชั่วโมง


“สิ่งที่ตามมาคือผู้โดยสารมีเวลาเหลือเฟือ และจำนวนผู้คนในเขตปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการจัดสรรพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร และร้านค้า รวมถึงที่พักต่าง ๆ” เชอร์รีกล่าว



การก่อการร้ายยังไม่สูญสิ้น


20 ปีหลังเกิดวินาศกรรมสะเทือนโลก มาตรการรักษาความปลอดภัยในสนามบินมีความรัดกุมมากขึ้น ขณะที่ไฟซาล จาก RSIS เผยว่า โอกาสที่จะตรวจพบแผนก่อการร้ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผ่านการทำประวัติ สำหรับการครอบครองอาวุธและวัตถุระเบิด รวมถึงการตรวจสอบเอกสารการเดินทางที่ถูกขโมยหรือปลอมขึ้นมา


ถึงอย่างนั้น ไฟซาลยังระบุว่า ยังคงมีช่องโหว่บางประการ เนื่องจากระดับความปลอดภัยในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันไป


วอห์น ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย กล่าวว่า เป้าหมายของผู้ก่อการร้าย ที่จะใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของระบบจะไม่มีวันหายไป แต่พวกเราสามารถสกัดกั้นไม่ให้ผู้ก่อการร้าย ใช้ประโยชน์จากส่วนนั้นได้


ไฟซาล เสริมว่า ผู้ก่อการร้ายมักมองหาโอกาสในการโจมตีสร้างความเสียหาย เพื่อบ่มเพาะความหวาดกลัว เพราะฉะนั้นสนามบินจึงต้องตื่นตัวอยู่เสมอ แม้ในช่วงเวลาที่มองว่าโอกาสเกิดภัยคุกคามเกิดขึ้นได้น้อยก็ตาม



โควิด-19 ภัยคุกคามแขนงใหม่


ในขณะเดียวกัน ภัยคุกคามล่าสุดที่มีต่อการบิน คือ โควิด-19 ซึ่งทำให้การเดินทางทั่วโลกหยุดชะงัก ส่งผลให้สายการบินและสนามบินเปิดทำการได้เพียงหยิบมือ หลายประเทศบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ รวมถึงการตรวจเชื้อเมื่อเดินทางมาถึง และกำหนดเขตกักกันในสนามบิน


เชอร์รี ที่ปรึกษาด้านการบิน ชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การเช็คอินระยะไกลโดยไม่ต้องสัมผัส รวมถึงการเช็คอินสัมภาระด้วยตนเอง สนามบินบางแห่งใช้อยู่ก่อนแล้ว


“เห็นได้ชัดว่า การระบาดครั้งใหญ่ช่วยเร่งการดำเนินการดังกล่าว นำไปสู่วิธีการใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไวรัส”


ขณะที่ ไฟซาล ระบุว่า มาตรการจัดการโรคระบาด ทำหน้าที่เป็นอีกขั้นหนึ่งในการตรวจสอบและติดตาม ซึ่งจะทำให้การเดินทางทางอากาศเข้มงวดขึ้นกว่าเดิม แต่สุดท้ายแล้ว นักเดินทางต่างยอมรับมาตรการดังกล่าว ว่าเป็น new-normal สำหรับการเดินทางทางอากาศอย่างปลอดภัย


“ในอนาคต นักเดินทางต้องยอมรับความไม่สะดวกของการเดินทางทางอากาศในยุคโรคระบาด โดยเฉพาะหากการบินในปัจจุบัน มีความจำเป็นมากขึ้นกว่าเดิม และไม่ใช่เพียงความหรูหรา”

ข่าวแนะนำ