รู้จัก "คามาลา แฮร์ริส" คู่ชิงรองปธน.สหรัฐฯของ โจ ไบเดน
ทำความรู้จัก "คามาลา แฮร์ริส" ผู้หญิงผิวสีหลากหลายเชื้อชาติคนแรก ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้สมัครชิงรองปธน.สหรัฐฯของ "โจ ไบเดน"
วันนี้( 12 ส.ค.63) โจ ไบเดน ว่าที่ตัวแทนพรรคเดโมแครตในการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เสนอชื่อวุฒิสมาชิกหญิงจากรัฐแคลิฟอร์เนีย “นางคามาลา แฮร์ริส” ซึ่งมีเชื้อสายอินเดีย-จาไมกา เป็นผู้สมัครรองประธานาธิบดีคู่กับเขา เพื่อแข่งกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และนายไมค์ เพนช์ รองประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้
สถิติ
-เป็นสตรีผิวดำคนแรกที่เป็นผู้สมัครรองประธานาธิบดีสหรัฐ ก่อนหน้านี้ มีผู้หญิงเพียง 2 คนเท่านั้นที่เคยได้รับการเสนอชื่อให้ลงสมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดี คือนางซาราห์ เพลิน พรรครีพับลิกันในปี 2551 และเจรัลดีน เฟอร์แรโร จากพรรคเดโมแครต ในปี 2527 แต่ผู้หญิงทั้ง 2 คน ไม่ได้เข้าทำเนียบขาว
-ทั้ง 2 พรรคการเมือง ไม่เคยเสนอชื่อผู้หญิงผิวสีเป็นตัวแทนพรรคลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
-เป็นผู้หญิงคนแรก และผู้หญิงผิวดำคนแรก ที่ได้เป็นอัยการของรัฐแคลิฟอร์เนีย
-เป็นผู้หญิงผิวดำคนแรกจากแคลิฟอร์เนียที่ได้เป็นสว.
-เป็นคนเชื้อสายอินเดียคนแรกที่เข้าใกล้การเข้าสู่ทำเนียบขาว
โจ ไบเดน ทวิตข้อความว่า เขารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งใหญ่ในการเลือก นางแฮร์ริส เป็นรองประธานาธิบดีคู่กับเขา แฮร์ริสเป็นนักสู้เพื่อคนตัวเล็กๆ ผู้ไม่เกรงกลัวใครและเป็นข้าราชการที่ทำงานดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศ เธอเคยทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับ โบ ลูกชายผู้ล่วงลับของไบเดน เมื่อเธอดำรงตำแหน่งอัยการรัฐแคลิฟอร์เนีย
โจ ไบเดน ได้ประกาศการตัดสินใจของเขาก่อนการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมเเครต วันที่ 17-20 สิงหาคม งานดังกล่าวจะถูกจัดขึ้นในลักษณะออนไลน์ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19
ด้าน คามาลา แฮร์ริส ได้ทวีตข้อความว่าเธอรู้สึกเป็นเกียรติที่จะได้ทำงานร่วมกับโจ ไบเดน และจะ "ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้" เพื่อให้ไบเดนได้รับเลือกเป็นผู้นำสหรัฐฯในศึกเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้
ประวัติ คามาลา แฮร์ริส
คามาลา แฮร์ริส วุฒิสมาชิกจากรัฐแคลิฟอร์เนียวัย 55 ปี เพิ่งเป็นสว.สมัยแรกเท่านั้น ก่อนหน้านี้เคยเป็นอัยการรัฐแคลิฟอร์เนีย เคยหาเสียงว่า เธอคือผู้ที่คุมหน่วยงานด้านยุติธรรมที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ เป็นรองเพียงกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีภูมิหลังที่หลากหลาย โดยแม่เป็นอินเดียและพ่อเป็นชาวจาเมกา
แม่ของแฮร์ริสเป็นคนอินเดีย เกิดที่เมืองเชนไน แล้วย้ายมาสหรัฐฯเพื่อมาเรียนปริญญาเอกที่ UC Berkeley การเป็นลูกครึ่ง ทำให้ คามาลา แฮร์ริส มีสายสัมพันธ์ของหลายอัตลักษณ์และเผ่าพันธุ์ สามารถเข้าถึงชุมชนที่หลากหลาย
คามาลา แฮร์ริส เคยบอกว่า แม่ของตนภูมิใจกับความเป็นอินเดียมากและสอนเธอและน้องสาวให้ภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ ครอบครัวของคามาลา แฮร์ริส กลับไปอินเดียบ่อยครี่ง บุคคลที่มีอิทธิพลต่อเธอนอกจากแม่แล้วก็คือตา ที วี โกปาลัน ซึ่งเคยมีตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดีย เป็นนักสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดีย นี่คือความทรงจำที่เธอมีในวัยเด็ก เวลาไปเยี่ยมตาที่อินเดีย
คามาลา แฮร์ริส บอกว่า ตาจะพาไปเดินริมชายหาดทุกเช้า มีเพื่อนตาไปด้วยกลุ่มข้าราชการวัยเกษียณและชอบพูดเรื่องการเมือง รวมถึงการต่อสู้เรื่องการทุจริตและความยุติธรรมในอินเดีย บทสนทนาเหล่านั้นที่เธอได้ฟังตอนเด็กๆ มีอิทธิพลต่อความคิดของเธอเกี่ยวกับความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบ อินเดียคือประเทศประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และนี่คือส่วนหนึ่งของชีวิตเธอและทำให้เธอเป็นเธอได้ทุกวันนี้
กระแสต่อ คามาลา แฮร์ริส
ตอนคามาลา แฮร์ริส ลงชิงเป็นตัวแทนพรรคกระแสยังไม่มากเท่าไหร่แต่พอประกาศถอนตัวจากการแข่งขัน ปรากฎว่ามีกระแสเสียดายมากเพราะเธอคือผู้หญิงผิวดำคนเดียวที่อยู่ในสนามตอนนั้น แม้ไม่มีโอกาสชนะ แต่คนจำนวนมากมองว่าแฮร์ริสคือพวกเดียวกัน เข้าใจความยากลำบากของผู้หญิงผิวดำและที่ผ่านมาแฮร์ริสจะเล่าถึงความท้าทายต่างๆที่เธอเผชิญในชีวิตการทำงาน และเธอเอาชนะมันมาได้อย่างไร
ตอนนี้แฮร์ริส ด้วยความที่เป็นทั้งคนผิวดำและมีเชื้อสายอินเดีย กลายเป็นผู้หญิงที่ทะลุเพดานสูงสุดแล้ว
การเลือกแฮร์ริส ทำให้ผู้หญิงหลายคนมองว่า เป็นการสะท้อนในสิ่งที่ผู้หญิงที่สีผิวต้องการเห็นในประเทศนี้ แฮร์ริสคือการรวมร่างของหลายอย่างของคนผิวดำของผู้หญิงที่เปลี่ยนผ้าปูเตียง ของผู้หญิงที่ขายของในร้านขายของชำของคนเอเชียนอเมริกัน คนอินเดียนอเมริกันและคนผิวดำ
อย่างไรก็ตาม ความที่เป็นผู้หญิงผิวดำ จึงมีการคาดการณ์ว่าเธอจะถูกขุดและโจมตีมากกว่าคนอื่น ซึ่งเธอโดนโจมตีมามากตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกรองประธานาธิบดีแล้ว
การเลือกรองประธานาธิบดี
-เลือกรองที่เสริมกัน หรือกลบจุดอ่อน เช่น บิล คลินตัน เลือกอัล กอร์ ที่เป็นคนหนุ่มสายกลาง
-รองคนอื่นๆ เช่น ดิ๊ก เชนีย์ ,โจ ไบเดน , ไมค์ เพนซ์ มีประสบการณ์เด่นแตกต่างกันไป เช่น เพนซ์ มีภาพลักษณ์ของคนเคร่งศาสนาเพิ่งดึงฐานเสียงจากคนกลุ่มนี้ เพราะทรัมป์ไม่ใกล้ศาสนาเลย
-การเลือกของไบเดน ไม่ได้อยู่ที่ประสบการณ์เท่าไหร่เพราะเขาผ่านมามากแล้ว แต่ขาดความสด ใหม่ หากชนะการเลือกตั้งตอนสาบานตน ไบเดนจะกลายเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกที่แก่ที่สุด
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรต้องจับตาคือ ความสามารถและความน่าสนใจของแฮร์ริสในการหาเสียงเพราะสมัยจอห์น แมคเคน เลยเลือกนักการเมืองหญิงหน้าใหม่อย่างซาราห์ เพลิน มาเป็นคู่ชิงรอง และเธอทำผลงานได้ไม่ไดีนักตอนหาเสียง ทำให้คนอเมริกันกังวลหากเธอต้องขึ้นมาบริหารประเทศแทนประธานาธิบดี จึงทำให้คนเทไปเลือกคู่ของบารัก โอบามาและโจ ไบเดนแทน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
""โจ ไบเดน" เลือก "คามาลา แฮร์ริส" ชิงตำแหน่งรองปธน.สหรัฐฯ"
"โจ ไบเดน" ได้คะแนนท่วมท้นเตรียมสู้ศึกชิงเก้าอี้ปธน.กับ "ทรัมป์"
‘โจ ไบเดน’ เตรียมเลือกสตรีผิวดำเป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดี
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE