ครบรอบ 20 ปี สึนามิครั้งร้ายแรงที่สุดในโลก ผู้เชี่ยวชาญเตือนอย่าชะล่าใจ
ครบรอบ 20 ปีสึนามิครั้งร้ายแรงที่สุดในโลก ผู้เชี่ยวชาญเตือนความชะล่าใจกำลังเกิดขึ้น ให้เตรียมพร้อมจะเกิดขึ้นเมื่อใดอีก
26 ธันวาคมปี 2004 เกิดคลื่นยักษ์สึนามิมหาสมุทรอินเดีย เป็นมหาภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดในโลก สร้างความเสียหายมากที่สุดและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติเท่าที่มีการบันทึกไว้ มีผู้เสียชีวิตและสูญหายมากกว่า 220,000 คนใน 14 ประเทศ
มหาภัยพิบัติครั้งนั้นได้ครบรอบ 20 ปีแล้วในวันนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ความชะล่าใจกำลังเกิดขึ้น ในขณะที่คลื่นยักษ์สึนามิรุนแรงระดับปี 2004 สามารถเกิดขึ้นได้อีก และคำถามไม่ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ แต่คำถามคือ "เมื่อใด" มันจะเกิดขึ้นอีก
26 ธันวาคมปี 2004 ในเวลาก่อน 8.00 น. เล็กน้อย เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงมากระดับ 9.2-9.3 แม็กนิจูด เขย่าพื้นที่ชายฝั่งตะวันตกของจังหวัดอาเจะห์ บนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียบริเวณทางตอนเหนือของเกาะ จากนั้นเกิดคลื่นยักษ์สึนามิตามมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายกว่า 227,898 คนใน 14 ประเทศ
อินโดนีเซียเสียหายหนักที่สุดที่เมืองบันดา อาเจะห์ เมืองชายฝั่งอินโดนีเซียในจังหวัดอาเจะห์บนเกาะสุมาตรา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินโดนีเซีย ตามมาด้วยศรีลังกาและไทย ส่วนเมืองที่อยู่ไกลที่สุดจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมปี 2004 ที่มีรายงานผู้เสียชีวิต คือเมืองที่มีชื่อว่า "พอร์ท เอลิซาเบธ" ในประเทศแอฟริกาใต้
ยอดผู้เสียชีวิตเฉพาะในอินโดนีเซีย 131,000 คน ทำให้มหาภัยพิบัติในครั้งนั้น ยังคงเป็นหายนะภัยทางธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย ประเทศที่มีความเสี่ยงจากการเกิดหายนะภัยธรรมชาติมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอันดับ 1 คือฟิลิปปินส์
ถึงแม้ว่าหลังจากเกิดสึนามิในปี 2004 แล้ว ทำให้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมานี้ ได้เกิดความก้าวหน้าครั้งใหญ่ ๆ มากมายในการวิจัยเรื่องสึนามิ , การป้องกันภัยพิบัติที่มาจากทะเล , การพัฒนาระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ , การสร้างจิตสำนึกให้ตระหนักถึงภัยสึนามิ ตลอดจนการเตรียมพร้อมของชุมชนต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ติดชายฝั่งในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซียที่เสียหายหนักที่สุด
แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญยังคงเตือนว่า สิ่งหนึ่งที่คนยังคงเข้าใจผิดหลัง 20 ปีผ่านไปคือ คิดว่าสึนามิเป็นเพียงภัยพิบัติที่เกิดขึ้นน้อยมาก แต่ความจริงแล้ว สึนามิเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้แบบค่อนข้างสามัญ คำถามที่ว่าสึนามิรุนแรงขนาดปี 2004 จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ จึงไม่ใช่คำถามว่า "ถ้า" แต่เป็นคำถามว่า "เมื่อใด"
"ฟิล คัมมินส์" (Phil Cummins) ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ได้ชื่อว่าเป็นคนที่ทำนายการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2004 ได้แม่นยำล่วงหน้าถึงกว่า 1 ปีตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมปี 2003 พร้อมกับเรียกร้องให้จัดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดียตั้งแต่นั้นด้วย
ล่าสุดนี้เขาเตือนว่า คลื่นยักษ์สึนามิระดับรุนแรงครั้งใหม่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยไร้สัญญาณเตือนล่วงหน้าใด ๆ และจะทำให้มีผู้เสียชีวิตในจำนวนที่อาจมากกว่าปี 2004 ถ้าหากชุมชนไม่ได้มีการซ้อมรับมืออย่างดี
คัมมินส์เตือนว่า ความชะล่าใจกำลังเกิดขึ้น หลังจากความทรงจำถึงความน่ากลัวของภัยพิบัตินี้ เริ่มจางลงเมื่อเวลาได้ผ่านไปแล้ว 2 ทศวรรษ และผู้คนไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนอีกต่อไป
คัมมินส์ระบุว่า เรายังคงไม่ได้แก้ปัญหาสำคัญที่ว่า จะป้องกันชุมชนต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากที่สุดอย่างไร ที่จะต้องถูกคลื่นยักษ์สึนามิที่จะเกิดตามมาถล่มอย่างแน่นอนหลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงมาก เนื่องจากสึนามิสามารถเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากโดยใช้เวลาน้อยที่สุดประมาณ 10 นาที หรืออาจมากกว่านั้นประมาณ 30 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่เล็กน้อยมากเกินกว่าจะเตือนภัยได้ทันและชาวบ้านจะหนีได้ทัน
ด้านผู้เชี่ยวชาญในเมืองบันดา อาเจะห์ที่สูญเสียหนักที่สุดในอินโดนีเซียเมื่อ 20 ปีก่อน เตือนเช่นกันว่า เห็นสัญญาณของความชะล่าใจกำลังเกิดขึ้นในชุมชนติดชายฝั่งหลายแห่งในสุมาตราเหนือ ที่ดินที่มีราคาถูกในแถบนั้นได้ดึงดูดผู้คนให้กลับเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ติดชายฝั่งที่มีความเสี่ยงสูงอีกครั้ง ทำให้ขณะนี้จำนวนประชากรในพื้นที่ติดชายฝั่งของอินโดนีเซ๊ย กลับยิ่งมากขึ้นกว่าก่อนเกิดสึนามิปี 2004 เสียอีก ทำให้หวั่นว่า หากเกิดคลื่นสึนามิอีกครั้ง อาจมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก.
ภาพจาก: AFP
ข่าวแนะนำ