TNN ธนาคารโลกคาดจีดีพีเมียนมาหดตัว 1%

TNN

World

ธนาคารโลกคาดจีดีพีเมียนมาหดตัว 1%

ธนาคารโลกคาดจีดีพีเมียนมาหดตัว 1%

ธนาคารโลกประเมินว่าจีดีพีเมียนมาจะหดตัวลง จากการสู้รบที่ยืดเยื้อและภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งหากการสู้รบยังยืดเยื้อออกไปอีก ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจของเมียนมา ที่ต้องเจอกับปัญหาเงินเฟ้อ และภาวะขาดแคลนสินค้าหลาย ๆ อย่าง

ธนาคารโลกคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของเมียนมาจะหดตัว 1% ในปีงบประมาณนี้ที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมปีหน้า ถือเป็นการปรับลดจากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าว่าจะเติบโตเล็กน้อย ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะยังคงอยู่ที่ 26% ในแง่ค่าเฉลี่ยรายปี เพิ่มขึ้น 8 จุด จากรายงานก่อนหน้านี้ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน โดยธนาคารโลกยังคาดว่า อัตราเงินเฟ้อของเมียนมาจะสูงถึง 30% ในปีงบประมาณหน้า


ปัจจัยที่เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจเมียนมาในปีนี้ มีสองปัจจัยหลัก ๆ คือการสู้รบ และน้ำท่วม นับตั้งแต่ที่กองทัพเมียนมายึดอำนาจเมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว กองทัพเมียนมาได้ต่อสู้กับกองกำลังฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยและชนกลุ่มน้อยกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ซึ่งธนาคารโลกระบุว่า ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าและห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งทำให้ค่าเงินตกต่ำและราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น จากภาวะขาดแคลนสินค้า อย่างราคาอาหาร ก็มีรายงานว่าราคาอาหารในเมียนมาเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 60% ในช่วงเดือนเมษายน ถึงเดือนกรกฎาคมทีผ่านมา 


นอกจากนี้ การสู่รบก็ทำให้มีประชาชนกว่า 3,500,000 คน ไร้ที่อยู่ หน่วยงานการปกครองท้องถิ่นไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ทำให้โครงการพัฒนาใหญ่ ๆ ต้องล่าช้าออกไป รวมทั้งทำให้มีการก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้นทั่วประเทศด้วย


นอกจากภาวะการสู้รบที่ยืดเยื้อแล้ว ในปีนี้เมียนมายังถูกซ้ำเติมด้วยภัยพิบัติน้ำท่วม ซึ่งรายงานของธนาคารโลก ยังชี้ให้เห็นถึงความเสียหายด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างทั่วเมียนมาในปีนี้จากพายุไต้ฝุ่นยางิ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน มีรายงานว่าอาคารบ้านเรือนราว 1 ใน 5 และถนน 1 ใน 10 ของประเทศที่เสียหายจากน้ำท่วม ประชาชนกว่า 2 ล้านคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้า โดยระบุว่า บริษัทมากกว่า 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ และบริษัทด้านการเกษตรมากกว่าครึ่งหนึ่ง รายงานว่าเกิดความเสียหายจากพายุเมื่อเดือนกันยายน


เมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและเมียนมา ระบุถึงเรื่องนี้ว่าเป็นภารกิจที่เร่งด่วนและสำคัญยิ่ง ในการสนับสนุนความพยายามฟื้นฟูเพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มที่เปราะบางที่สุดของเมียนมา และในรายงานยังมีการประเมินด้วยว่า หากการสู้รบยังไม่หยุด ก็จะทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจของเมียนมา เลวร้ายลงมากกว่านี้อีก


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง