TNN ซีเรียจะเป็นอย่างไรต่อไป หลังรัฐบาลอัล-อัสซาดถูกโค่นล้ม

TNN

World

ซีเรียจะเป็นอย่างไรต่อไป หลังรัฐบาลอัล-อัสซาดถูกโค่นล้ม

ซีเรียจะเป็นอย่างไรต่อไป หลังรัฐบาลอัล-อัสซาดถูกโค่นล้ม

สำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์การคาดการณ์อนาคตของซีเรียเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก การล่มสลายของรัฐบาลบาชาร์ อัล-อัสซาด ทำให้เกิดความยินดีในซีเรียและทั่วโลก แต่ก็ทำให้ประเทศเข้าสู่สภาวะที่ไม่มั่นคง เกิดสุญญากาศทางการเมือง ซึ่งรัฐบาล ความมั่นคง และเศรษฐกิจของประเทศยังคงไม่ทราบชะตากรรมว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

การถ่ายโอนอำนาจอย่างราบรื่นเป็นเรื่องยาก


ซานาม วาคิล ผู้อำนวยการโครงการตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือจากสถาบันวิจัย Chatham House ในกรุงลอนดอน ระบุว่า การถ่ายโอนอำนาจอย่างราบรื่นเป็นเรื่องยากมากในซีเรียท่ามกลางสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา


การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและความไม่แน่นอนทำให้เกิดความเสี่ยงมากมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบ และหลักธรรมาภิบาล เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนชาวซีเรีย


อัล-อัสซาด ปกครองซีเรียมาเกือบ 25 ปี เป็นผู้นำในการปราบปรามการลุกฮือของพลเรือนและการก่อกบฏ ที่เริ่มขึ้นในปี 2011 ในสงครามที่เกิดขึ้นตามมา มีชาวซีเรียเสียชีวิตมากกว่า 500,000 คน เป็นพลเรือนถึง 200,000 คน ขณะที่ผู้คนนับล้านลี้ภัยหนีออกนอกประเทศ



  • โค่นอัล-อัสซาดได้แล้วทำอะไรต่อ ?


ลาฮิบ ฮิเกล นักวิเคราะห์อาวุโสแห่งสถาบันวิจัย International Crisis Group ระบุว่า ตอนนี้เป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลอง ซึ่งการที่เราได้เห็นชาวซีเรียออกมาหัวเราะและมีความสุขต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นั่นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้


คำถามเร่งด่วนที่สุดในตอนนี้คือ กลุ่มกบฏจะสามารถรักษาเมืองหลวง และหลีกเลี่ยงภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่วุ่นวายได้เร็วเพียงใด และตอนนี้พวกเขามีแผนอะไรอยู่บ้างหลังจากที่บรรลุเป้าหมายในการโค่นล้มประธานาธิบดีอัล-อัสซาดได้แล้ว


นอกจากนี้ ยังไม่ชัดเจนว่ากลุ่มกบฏสามารถขยายการปกครองไปทั่วประเทศได้ไกลแค่ไหนและเร็วเพียงใด ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นคืนเสถียรภาพ แล้วพวกเขาจะยังคงสามัคคีกันต่อไปหรือไม่ หลังจากโค่นล้มศัตรูร่วมกันอย่างผู้นำซีเรีย


มากไปกว่านั้น รัฐบาลใหม่จะสร้างสมดุลของผลประโยชน์ระหว่างกองกำลังต่าง ๆ ที่ยึดครองดินแดนในซีเรียได้อย่างไร กระบวนการเปลี่ยนผ่านจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และจะสามารถจ่ายเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐได้ไหม แม้ฟังดูเป็นอะไรที่พื้นฐานมาก แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็น



  • สถานการณ์คล้ายอิรักหลังโค่นซัดดัม


ฮิเกลกล่าวว่า สถานการณ์ในซีเรียสามารถเปรียบเทียบได้กับอิรักเมื่อปี 2003 หลังจากกองทัพสหรัฐฯ ยุติการปกครองที่ยาวนานของเผด็จการซัดดัม ฮุสเซน ความหวังที่จะเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยอย่างสันตินั้นลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะเหตุปล้นสะดมเกิดขึ้นทั่วกรุงแบกแดด และความไม่มั่นคงและความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น ในท้ายที่สุด ก็นำไปสู่สงครามกลางเมืองระหว่างประชาชนที่นับถือศาสนาแตกต่างกัน แต่ในกรณีของซีเรียในครั้งนี้ กลุ่มกบฏอิสลามอาจมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะพวกเขาขับไล่อัล-อัสซาดออกนอกประเทศได้สำเร็จ


อาบู โมฮัมหมัด อัล-โจลานี หัวหน้ากลุ่มกบฏฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม ซึ่งเคยเกี่ยวข้องกับกลุ่มอัลกออิดะห์ ที่ควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดอิดลิบ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย ได้ปกครองโดยใช้หลักศาสนาอิสลามนิกายซุนนี ที่มีความอนุรักษ์นิยม และหัวรุนแรงในบางครั้ง แต่ฮิเกลกล่าวว่า เขามีความอดทนอดกลั้นต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนาและชาติพันธุ์ในพื้นที่ที่กลุ่มของเขาควบคุมอยู่


นอกจากนี้ซีเรียยังต้องเผชิญกับแรงกดดันทางสังคมและเศรษฐกิจ เพราะพวกเขายากจนมากกว่าอิรักเมื่อปี 2003 และปัญหาปากท้องคือเรื่องใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไข



  • อิหร่านตัวแปรสำคัญ


ลินา คาติบ ผู้ร่วมวิจัยจาก Chatham House กล่าวว่า เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับก้าวต่อไปของซีเรีย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาถึงการสนับสนุนระบอบการปกครองของอัสซาดมาอย่างยาวนานของอิหร่าน และบทบาทของอิหร่านที่พัฒนาไป


อัล-อัสซาด เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับอิหร่าน แต่ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา รัฐบาลอิหร่านได้ทอดทิ้งเขา และยอมสละซีเรีย ซึ่งเป็นฐานที่มั่นหลักในโลกอาหรับ


อิหร่านอ่อนแอลงหลังจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และฮามาสที่กินเวลานานหนึ่งปี ผ่านการสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน

—————

ภาพ: Reuters 

อ้างอิง: https://www.nytimes.com/2024/12/08/world/middleeast/syria-assad-rebels-what-next.html

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง