ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน เผยรัสเซียอาจโจมตีศูนย์กลางอำนาจของรัฐบาลยูเครนในกรุงเคียฟ เพื่อตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลของชาติตะวันตกโจมตีรัสเซีย พร้อมทั้งย้ำว่า จะใช้อาวุธทั้งหมดที่มีอยู่ กำจัดยูเครน หากยูเครนพยายามที่จะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์
ปูติน แถลงเมื่อวานนี้ (28 พฤศจิกายน) ว่า รัสเซียกำลังเลือกเป้าหมายในยูเครน ซึ่งอาจรวมถึง "ศูนย์กลางการตัดสินใจ" ทั้งกระทรวงต่าง ๆ ของรัฐบาล, รัฐสภาหรือทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงเคียฟ เพื่อตอบโต้การโจมตีระยะไกลของยูเครนต่อดินแดนรัสเซียด้วยอาวุธตะวันตก
ที่ผ่านมาของสงครามที่ยืดเยื้อมา 33 เดือน จนถึงขณะนี้ รัสเซียยังไม่เคยโจมตีอาคารรัฐบาลในเมืองหลวงของยูเครน ซึ่งได้รับการป้องกันอย่างเข้มงวดด้วยระบบป้องกันภัยทางอากาศ แต่ประธานาธิบดีปูติน กล่าวว่า ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง “โอเรชนิก” (Oreshnik) ของรัสเซีย ที่เคยใช้ยิงโจมตีเมืองดนิโปรในยูเครนเป็นครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไม่สามารถถูกยิงสกัดได้
ปูติน กล่าวต่อที่ประชุมพันธมิตรด้านความมั่นคงของอดีตประเทศสหภาพโซเวียตในคาซัคสถานว่า แน่นอน เราจะตอบโต้ต่อการโจมตีดินแดนของรัสเซียด้วยขีปนาวุธพิสัยไกลที่ผลิตโดยชาติตะวัตตก ขณะนี้กระทรวงกลาโหมและเสนาธิการทหารกำลังเลือกเป้าหมายโจมตีในดินแดนยูเครน ซึ่งอาจรวมถึงหน่วยงานทางทหาร, บริษัทด้านการป้องกันประเทศและอุตสาหกรรม หรือศูนย์กลางกำหนดนโยบายในกรุงเคียฟ
นอกจากนี้ ปูตินยังกล่าวด้วยว่า รัสเซียจะใช้อาวุธทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อกำจัดยูเครน หากยูเครนต้องการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์
หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เจ้าหน้าที่ชาติตะวันตก ซึ่งไม่เปิดเผยชื่อบางคน ระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ อาจจัดหาอาวุธนิวเคลียร์ให้ยูเครน ก่อนพ้นจากตำแหน่ง
ผู้นำรัสเซีย กล่าวว่า “หากประเทศที่เรากำลังทำสงครามอยู่ตอนนี้ กลายเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ เราจะทำอย่างไร ในกรณีนี้ เราจะใช้ทุกวิถีทาง เขาต้องการเน้นย้ำถึงวิธีการทำลายล้างทั้งหมดที่รัสเซียมี เราจะไม่ยอมให้ยูเครนมีอาวุธนิวเคลียร์ จะเฝ้าจับตาดูทุกการเคลื่อนไหวของพวกเขา” และ “หากมีใครทำการถ่ายโอนบางสิ่งบางอย่างอย่างเป็นทางการ นั่นจะถือเป็นการละเมิดพันธสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ที่พวกเขาให้ไว้ทั้งหมด”
ปูตินยังกล่าวอีกว่า ในทางปฏิบัติ เป็นไปไม่ได้เลยที่ยูเครนจะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ แต่ยูเครนอาจผลิต "เดอร์ตีบอมบ์” (dirty bomb) ซึ่งเป็นระเบิดธรรมดาที่ผสมสารกัมมันตภาพรังสีเพื่อแพร่กระจายได้ ในกรณีนั้น รัสเซียจะตอบสนองอย่างเหมาะสม
รัสเซียย้ำหลายครั้ง โดยไม่ได้แสดงหลักฐาน ว่า ยูเครนอาจใช้อาวุธดังกล่าว
ยูเครนสืบทอดอาวุธนิวเคลียร์จากสหภาพโซเวียตหลังจากการล่มสลายในปี พ.ศ.2534 แต่ได้สละอาวุธเหล่านี้ไปภายใต้ข้อตกลง “บันทึกบูดาเปสต์” ปี 2537 โดยแลกกับการรับประกันความมั่นคงจากรัสเซีย, สหรัฐฯ และอังกฤษ
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน แถลงหลายครั้งว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ประเทศของเขาขาดความปลอดภัย โดยอ้างว่า นี่เป็นเหตุผลที่ยูเครนควรเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ซึ่งรัสเซียคัดค้านอย่างหนัก