TNN ยูเครน อ้าง รัสเซีย ใช้ "ขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป" ชนิดใหม่

TNN

World

ยูเครน อ้าง รัสเซีย ใช้ "ขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป" ชนิดใหม่

ยูเครน อ้าง รัสเซีย ใช้ ขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป ชนิดใหม่

กองทัพยูเครน ระบุ กองทัพรัสเซีย ยิงขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปขนาดใหญ่ (ICBM) รุ่นใหม่ ยิงจากฐานทัพในเมืองอัสตราข่าน

กองทัพยูเครนระบุว่า กองทัพรัสเซียได้ยิงขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปขนาดใหญ่ (ICBM)  รุ่นใหม่"อาร์เอส-26 รูเบซ" (RS-26 Rubezh) แต่ไม่ได้ติดหัวรบนิวเคลียร์ โดยยิงจากฐานทัพในเมืองอัสตราข่าน ริมทะเลสาบแคสเปียน เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา โจมตีเมืองดนีโปร ทางตอนกลางค่อนไปทางตะวันตกของยูเครน  พร้อมกับขีปนาวุธอื่นๆ อีก 8 ลูก ซึ่งระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครนสามารถยิงทำลายขีปนาวุธที่ถูกยิงมาได้ 6 ลูก มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน และอาคารสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เสียหายบางส่วน


ผู้เชี่ยวชาญด้านขีปนาวุธให้ข้อมูลว่า ขีปนาวุธอาร์เอส-26 ดังกล่าว เป็นขีปนาวุธขนาดใหญ่หนัก 50 ตัน ติดหัวรบที่มีขนาดใหญ่กว่าขีปนาวุธ "อิสคันเดอร์" ของรัสเซีย 3 เท่า เป็นรุ่นใหม่ที่ดัดแปลงมาจากขีปนาวุธ "อาร์เอส-247 ยาร์ส" (RS-247 Yars)  ของรัสเซีย แต่ยังไม่เคยนำอาร์เอส-26 ออกใช้มาก่อน เป็นขีปนาวุธชนิดยิงออกจากฐานยิงบนพื้นดิน มีความเร็วเหนือเสียง 5 เท่า และยากที่ขีปนาวุธ "แพตทริออต" ของสหรัฐฯ ที่มอบให้ยูเครนไป จะสามารถสอยร่วงได้ง่าย ๆ


ปัจจุบันขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป อาร์เอส-26  ของรัสเซีย โจมตีได้ไกลถึง 7,800  กิโลเมตร มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับขีปนาวุธข้ามทวีปมินิทแมนทรี ของสหรัฐ ซึ่งมีพิสัยทำการ 8,000กิโลเมตร รวมถึงขีปนาวุธข้ามทวีปของจีนตงเฟิง41 ที่มีพิสัยทำการถึง9,000 กิโลเมตร  


 แต่ที่ผ่านมา รัสเซียมักจะยิงขีปนาวุธตระกูล "อิสคันเดอร์" (Iskander) ที่มีขนาดเล็กกว่าและช้ากว่า โจมตีกรุงเคียฟนับตั้งแต่สงครามเริ่มมานานเกือบ 3 ปี

    

ทั้งนี้ หากได้รับการยืนยันจากฝั่งรัสเซีย จะถือเป็นครั้งแรกที่รัสเซียยิงขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปขนาดใหญ่ดังกล่าวโจมตียูเครน ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการโจมตีที่รุนแรงเกินไปมาก เนื่องจากขีปนาวุธทิ้งตัวแบบดังกล่าวมักจะติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ด้วย ถือเป็นการส่งสัญญาณเพิ่มความรุนแรงในการทำสงครามกับยูเครนของรัสเซีย หลังจากที่ประกาศว่าจะดำเนินการตอบโต้ที่ยูเครนยิงขีปนาวุธที่ได้รับจากสหรัฐฯ และอังกฤษ เข้าใส่ดินแดนรัสเซียเป็นครั้งแรก 2 วันติดในสัปดาห์นี้


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง