นับเป็นข่าวใหญ่สะเทือนวงการสกุลเงินดิจิทัล สำหรับคริปโตเคอร์เรนซี่ที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดสกุลหนึ่งของโลกอย่าง “บิตคอยน์” (Bitcoin) พุ่งจากวันเลือกตั้ง 30% ภายในสัปดาห์เดียว แตะจุดสูงสุด 89,982 เหรียญสหรัฐฯ หรือมากกว่า 3.1 ล้านบาท
สาเหตุที่คริปโตพุ่งกระฉูด
นักวิเคราะห์มองว่า อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะผู้แทนพรรครีพับลิกัน รณรงค์หาเสียงยกแนวคิดสกุลเงินดิจิทัลไม่น้อย ถึงขั้นที่รับบริจาคเงินคริปโตเข้าแคมเปญหาเสียง พร้อมทั้งประกาศว่า รัฐบาลใหม่สหรัฐฯ เป็น “คริปโต-เฟรนด์ลี่” เป็นมิตรกับคริปโต และจะปลุกปั้นให้สหรัฐอเมริกา กลายเป็นเมืองหลวงคริปโตของโลกทั้งใบ
แม้ว่าแต่เดิมอดีตประธานาธิบดีคนที่ 45 แห่งสหรัฐฯ จะแสดงความเห็นว่า คริปโตเคอร์เรนซี ไม่ใช่เงิน ซ้ำร้ายยังเป็นภัยคุกคามต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ไปจนถึงการกระทำผิดกฎหมายอย่างการค้ายาเสพติดและอาชญากรรมอื่น ๆ ด้วย
จุดยืนของทรัมป์ที่เปลี่ยนไป
ตัวทรัมป์เองกับลูกชายทั้งสามอย่าง โดนัลด์ จูเนียร์, เอริก และบาร์รอน ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์มบริการทางการเงินที่สามารถทำธุรกรรมได้โดยไม่ผ่านตัวกลาง หรือที่รู้จักกันว่า Decentralized Finance (DeFi) ในชื่อ World Liberty Financial ในช่วงเดือนกันยายนระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง
แม้รายละเอียดธุรกิจครอบครัวนี้ จะยังไม่ปรากฏตามหน้าสื่อมากนัก ประกอบกับบางส่วนวิจารณ์ถึงผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับแวดวงตลาดเงิน แต่บรรดานักลงทุนต่างมองไอเดียของทรัมป์ เป็นสัญญาณที่ดีของรัฐบาลใหม่ภายใต้ว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ต่อสกุลเงินดิจิทัลต่อไป จึงทำให้มูลค่าสกุลเงินดิจิทัลพุ่งทะยานต้อนรับชัยชนะของทรัมป์เลยทีเดียว
ทรัมป์เองถึงขั้นประกาศย้ำชัดว่า “หากได้รับเลือกตั้ง นี่จะเป็นแนวนโยบายสำคัญของรัฐบาล ให้บิตคอยน์ทั้งหมด 100% เป็นของรัฐบาลสหรัฐฯ” ทั้งเป็นของทรัมป์ และผลิตในแผ่นดินอเมริกา
ปัจจุบันตลาดคริปโตเคอร์เรนซีทั่วโลกที่มีมูลค่าสูงถึง 97 ล้านล้านบาทนั้น ประกอบด้วยสกุลต่าง ๆ ตามสัดส่วนได้แก่
นอกจากนี้ ยังมี Dogecoin (DOGE), USD Coin (USDC), Ripple (XRP), TRON (TRX) ด้วย ดังนั้น ปรากฏการณ์ บิตคอยน์ พุ่งทะยานทำสถิติใหม่ขนาดนี้ จึงย่อมส่งคลื่นกระทบคริปโตสกุลอื่น โดยเฉพาะ เอเธอเรียม และ ดอจคอยน์ ให้กระเตื้องสูงขึ้นไปตาม ๆ กัน
ข้อถกเถียงในประชาคมระหว่างประเทศ
แน่นอนว่ากฎระเบียบควบคุมตลาดคริปโตยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในประชาคมระหว่างประเทศ จึงยังเห็นนานาชาติตอบสนองต่อสกุลเงินดิจิทัลที่แตกต่างกัน ปัจจุบันมีมากกว่าร้อยชาติที่จำกัดการใช้บิตคอยน์และสกุลอื่น ๆ โดยเฉพาะจีน ซาอุดีอาระเบีย ตูนิเซีย และโบลิเวีย ที่การซื้อขายคริปโตยังผิดกฎหมาย ต่างจากสหรัฐฯ แคนาดา สหภาพยุโรป สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เปิดรับให้การซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีถูกกฎหมาย
ไม่ใช่เฉพาะการควบคุมยังเป็นประเด็นปัญหา แต่ตัวบิตคอยน์เองก็มีสภาวะผันผวนอย่างหนักหน่วง ราคาขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ดังกรณีราคาตกเหลือไม่ถึง 5,000 เหรียญสหรัฐฯ จากโควิด-19 เมื่อเดือนมีนาคม 2020 แล้วพุ่งทะยานในเดือนพฤศจิกายน 2021 ทำลายสถิติขณะนั้นที่เกือบ 69,000 เหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งยังมองด้วยว่า หากทรัมป์มองการณ์ไกลถึงการควบคุมเหรียญดิจิทัลนี้จริง ก็คงพยายามทำให้คริปโตเคอร์เรนซี่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฐานเสียงรีพับลิกันมองว่ามีปัญหา โดยอาศัยการเชื่อมโยงเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยสร้างความโปร่งใสและประสิทธิภาพของรัฐบาล ผ่านบทบาทของ อีลอน มัสก์ ที่เข้ามาเป็นหัวหอกในเรื่องนี้โดยเฉพาะด้วย
แน่นอนว่า หากบิตคอยน์มีมูลค่าสูงขึ้นเช่นนี้ ย่อมเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดึงดูดนักลงทุนเพิ่มมากขึ้นในรัฐบาลใหม่ โดนัลด์ ทรัมป์ กับ อีลอน มัสก์ จะตอบสนองต่อเทรนด์ใหม่นี้ในตลาดเงินอย่างไร และจะทำให้อเมริกาเป็นศูนย์กลางมหาอำนาจแห่งคริปโตเคอร์เรนซี่ได้จริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป