TNN ไซโคลน "ดานา" ถล่มอินเดีย

TNN

World

ไซโคลน "ดานา" ถล่มอินเดีย

ไซโคลน ดานา ถล่มอินเดีย

ไซโคลน “ดานา” ถล่มพื้นที่ชายฝั่งของอินเดีย ทำให้ต้นไม้และเสาไฟหักโค่น และสร้างความเสียหายให้กับป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดในโลก “ซุนดาร์บัน” ในรัฐเบงกอลตะวันตก

พายุไซโคลน “ดานา” ทำให้ต้นไม้และเสาไฟหักโค่นระเนระนาด หลังพัดขึ้นฝั่งตะวันออกของอินเดีย ซึ่งเจ้าหน้าที่เตือนสภาพอากาศจะเลวร้ายมากขึ้นเมื่อวานนี้ (25 ตุลาคมโดยไซโคลน ซึ่งเทียบได้กับเฮอริเคนในแอตแลนติกเหนือ หรือไต้ฝุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ


มีประชาชนอย่างน้อย 1.1 ล้านคนในรัฐโอริสสา และเบงกอลตะวันตก ต้องอพยพไปอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว ก่อนที่ตาพายุไซโคลน จะเคลือนตัวถึงชายฝั่งหลังเที่ยงคืนเล็กน้อย 


เจ้าหน้าที่ระบุว่า พายุลูกนี้ สร้างความเสียหายอย่างหนักในเมืองปุรี เมืองชายฝั่ง มีต้นไม้และเสาไฟจำนวนมากหักโค่น ร้านค้าชั่วคราวบนชายหาดที่กว้างใหญ่ ก็ถูกกระแสลมพัดกระจัดกระจาย แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต 


ไซโคลนดานา ซึ่งเคลื่อนตัวด้วยความเร็วลมที่จุดศูนย์กลาง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อพัดขึ้นฝั่ง ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ชายฝั่ง หลังจากเกิดคลื่นสูงซัดฝั่ง หรือสตอร์ม เซิร์จสูงระดับ 1.15 เมตร 


บันคิม จันทรา ฮาซรา มุขมนตรีรัฐเบงกอลตะวันตก กล่าวว่า ป่าชายเลน “ซุนดาร์บัน” ซึ่งเป็นป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้รับผลกระทบจากลมกระโชกแรง ทำให้ต้นไม้หลายร้อยต้นโค่นล้ม นอกจากนี้ ไซโคลนยังทำลายบ้านเรือนหลายร้อยหลัง พัดหลังคาบ้านปลิวในหลายพื้นที่ชายฝั่ง 


ส่วนสนามบินหลัก ปิดให้บริการตั้งแต่คืนวันพฤหัสบดีในเมืองโกลกาตา เมืองใหญ่อันดับ 3 ของอินเดีย และเป็นศูนย์กลางการเดินทางที่สำคัญ ซึ่งได้รับความเสียหายจากฝนตกหนัก 


นักวิทยาศาสตร์ เตือนว่า พายุทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล พื้นผิวมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นจะปล่อยไอน้ำออกมามากขึ้น ซึ่งไปกระตุ้นให้พายุมีกำลังแรงมากขึ้นและกระแสลมแรงขึ้น


ก่อนหน้านี้ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไซโคลนเรมัล คร่าชีวิตผู้คนในอินเดียไปอย่างน้อย 48 ราย และอย่างน้อย 17 รายในบังกลาเทศ 



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง