ค่าธรรมเนียมรถติด หลายเมืองทั่วโลกใช้ แล้วกรุงเทพจะได้ผลไหม
ค่าธรรมเนียมรถติด หรือ Congestion fee ที่รัฐบาลไทยอาจจะเรียกเก็บในพื้นที่กรุงเทพชั้นใน ในอนาคต ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อะไร มีหลายประเทศทั่วโลกใช้มานานแล้ว
สิงคโปร์ ชาติแรกที่ใช้ค่าธรรมเนียมรถติด
สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ใช้นโยบาย Congestion fee ในเขตใจกลางเมือง เมื่อปี 1975 หลังจากนั้นก็มีอีกหลายเมืองใช้ เช่น ลอนดอน, สต็อกโฮล์ม มิลานและโกเธนเบิร์ก
การเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในเขตใจกลางเมือง คือการเก็บเงินรถที่จะขับเข้ามาในเมือง ในชั่วโมงเร่งด่วน เป็นการบังคับอ้อมๆ ไม่ให้คนขับรถส่วนตัวเข้ามาในเมือง เพื่อลดความหนาแน่นของการจราจรในเขตเมือง ลดมลพิษ แต่ก็ทำให้ผู้คนในพื้นที่ไม่พอใจ เพราะเดินทางลำบากขึ้น หรือต้องเสียเงินเพิ่ม แต่เงินที่เก็บได้ก็ถูกนำไปใช้สร้างประโยชน์อื่น ๆ
อย่างในสิงคโปร์ประเทศในอาเซียนของเรา เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้าในปี 1975 ก่อนจะเก็บค่าธรรมเนียมด้วยระบบอัตโนมัติด้วยการตั้งเวลาในปี 1998 ซึ่งช่วยลดการจราจรที่ติดขัดได้ 13% และทำให้รถเคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น 22%
ส่วนที่ลอนดอน มหานครที่มีการจราจรติดขัดมากที่สุดในโลกประจำปี 2023 เมื่อพิจารณาจากระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทาง 10 กิโลเมตรจากใจกลางเมือง
ลอนดอนเริ่มใช้ค่าธรรมเนียมรถติด เมื่อปี 2003 ซึ่งมีการเก็บค่าธรรมเนียมต่อวันของรถยนต์ที่เข้าเขตใจกลางเมืองในช่วง 07.00-18.30 น.ในวันธรรมดา หลังจากใช้นโยบายนี้ก็ช่วยให้การจราจรติดขัดน้อยลง 15% ลดความล่าช้าในการถึงที่หมายได้ 30%
อย่างไรก็ตามเมืองที่ประสบความสำเร็จในการลดปัญหาการจราจรแออัด มักจะมีระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุม และผังเมืองที่ดี
ขนส่งมวลชนที่ดี ครอบคลุม
อย่างในสิงคโปร์ มีระบบรถไฟใต้ดินที่ครอบคลุมทั้งเมืองราคาอยู่ที่ 1-2.5 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 25-63 บาทและยังมีรถเมล์ที่ครอบคลุมทั้งประเทศ
ส่วนที่ลอนดอน หนึ่งในเมืองที่มีเครือข่ายขนส่งมวลชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีทั้งรถไฟใต้ดิน, รถไฟบนดินและรถเมล์ ครอบคลุมทั่วทั้งเมือง ราคารถไฟใต้ดินอยู่ที่ราว 2.80-3.40 ปอนด์ หรือ 121-147 บาทต่อเที่ยว
หากมองกลับมาที่กรุงเทพ อาจจะยังไม่ได้มีระบบขนส่งมวลชนที่สะดวกสบาย หรือครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ขนาดนั้น และยังมีปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่แพง การเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าแต่ละสายที่ไกลกัน ทำให้คนกรุงเทพต้องเสียค่าเดินทางหลายต่อ ตั้งแต่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ต่อรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้า จึงไม่เป็นที่น่าแปลกที่คนกรุงเทพนิยมเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัว
อย่างไรก็ตามนโยบายดังกล่าวถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดอย่างเป็นรูปธรรม เพราะจากข้อมูลการจัดอันดับมหานครที่รถติดมากที่สุดในโลก กรุงเทพก็อยู่ในอันดับ 4 หากพิจารณาจากเวลาที่เสียไปมากกว่าปกติในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน
ข่าวแนะนำ