TNN “เจสัน สเตแธม” ผู้ผิดหวังจากการเข้าแข่งขันโอลิมปิกสู่นักแสดงบู๊ชื่อดัง | World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล

TNN

World

“เจสัน สเตแธม” ผู้ผิดหวังจากการเข้าแข่งขันโอลิมปิกสู่นักแสดงบู๊ชื่อดัง | World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล

“เจสัน สเตแธม” ผู้ผิดหวังจากการเข้าแข่งขันโอลิมปิกสู่นักแสดงบู๊ชื่อดัง | World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล

ในการเดินเข้าสู่ถนนวงการบันเทิงของ "เจสัน สเตแธม" พระเอกนักบู๊ชื่อดัง มาจาก “ความผิดหวัง” ที่ไม่สามารถ Qualified เพื่อเข้าแข่งขันกีฬากระโดดน้ำในโอลิมปิกได้ถึง 2 ครั้ง 2 ครา

“เจสัน สเตแธม (Jason Statham)” นักแสดงชาวอังกฤษผู้นี้เป็นที่รู้จักในฝีมือการแสดงคิวบู๊ระดับเทพเจ้า ทั้งในภาพยนตร์ “The Transporter: ขนระห่ำไปบี้นรก” “The Expendables: โคตรคนทีมมหากาฬ” หรือ “Fast and Furious: เร็ว..แรงทะลุนรก” 


แต่อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ นั่นคือ ในการเดินเข้าสู่ถนนวงการบันเทิงของเขา มาจาก “ความผิดหวัง” ที่ไม่สามารถ Qualified เพื่อเข้าแข่งขันกีฬากระโดดน้ำในโอลิมปิกได้ถึง 2 ครั้ง 2 ครา


ในสมัยวัยรุ่น สเตแธมถือเป็น “นักกีฬากระโดดน้ำ” ฝีมือฉกาจแห่งสหราชอาณาจักร เพราะช่วงวัยเด็ก เขาหลงใหลกีฬากระโดดน้ำอย่างมาก และตั้งใจจะเป็นนักกีฬาอาชีพประเภทนี้ โดยได้เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ Olympics ว่า


“ตอนผมไปพักผ่อนกับครอบครัวที่ฟลอริดา ผมเห็นชายผู้หนึ่งกระโดดน้ำประจำ ตลอดที่เราพักผ่อน ผมจึงบอกพ่อกับแม่ว่า ผมจะเป็นนักกีฬากระโดดน้ำให้ได้ … ในช่วงอายุ 11-12 ปี ผมฝึกฝนอย่างหนัก จนในที่สุด 10 ปีต่อมา ก็ถึงฝั่งฝัน …”


พออายุได้ 23 ปี เขาได้รับการคัดเลือกให้เข้าแข่งขัน Commonwealth Games 1990 ที่นิวซีแลนด์ แม้เขาจะไม่ได้รับเหรียญรางวัลใด ๆ กลับบ้าน แต่ผลงานก็ถือว่าไม่ได้ขี้เหร่ เกาะกลุ่ม Top 10 ของการแข่งขัน


เขาพยายามสู้ต่อในเส้นทางอาชีพนี้ ด้วยการทำผลงานให้เข้าตาโค้ช เพื่อเป็นตัวแทนไปแข่งขันโอลิมปิกให้จงได้ แต่แล้วเขาก็ค้นพบตนเองว่า “ยังไม่ดีพอ” เพราะจากการ Qualified ในโอลิมปิก 1988 เขาถูกคัดชื่อทิ้ง และแม้จะพยายามมากขึ้นในโอลิมปิก 1992 ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม


ประกอบกับช่วงนั้น สเตนแธมเริ่มมีงานโฆษณาเข้ามา จากการเข้าตาแมวมองในวงการบันเทิงของอังกฤษ และเหมือนจะไปได้สวย ทำให้เป็นทางแพร่งในชีวิตของเขาว่า จะเป็นนักกีฬา หรือจะเปลี่ยนไปเป็นนักแสดงแบบเต็มตัว แน่นอนว่าเขาเลือกทิ้งความฝัน และไปเป็นนักแสดง แต่เขาก็ยังขอบคุณตนเองที่เลือกทางเดินนี้ ความว่า


“ข้อดีของการที่ผมไม่ประสบความสำเร็จในด้านกีฬา คือได้ช่วยให้ผมโฟกัสกับการแสดงได้อย่างไร้ความกังวลใด ๆ” 


การเป็นกีฬาได้ช่วยให้สเตแธมสามารถที่จะเล่นคิวบู๊ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาสตั๊นท์แมน ทั้งยังช่วยให้เขามีสมาธิ มีวินัย และก้าวข้ามความกดดันที่เผชิญได้อย่างง่ายดาย ทำให้เขาประสบความสำเร็จในฐานะพระเอกนักบู๊อันดับต้น ๆ ของโลกมาจนถึงปัจจุบัน


World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]


แหล่งอ้างอิง


ข่าวแนะนำ