TNN “ปารีส 1924” ฝรั่งเศส “ฟื้นภาพลักษณ์ทางกีฬา” ด้วยการเป็นเจ้าภาพ “โอลิมปิก” อีกครั้ง

TNN

World

“ปารีส 1924” ฝรั่งเศส “ฟื้นภาพลักษณ์ทางกีฬา” ด้วยการเป็นเจ้าภาพ “โอลิมปิก” อีกครั้ง

“ปารีส 1924” ฝรั่งเศส “ฟื้นภาพลักษณ์ทางกีฬา” ด้วยการเป็นเจ้าภาพ “โอลิมปิก” อีกครั้ง

ฝรั่งเศสได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอีกครั้งในชื่อ “ปารีส 1924” และเมื่อพิจารณารายละเอียดเหมือนกับว่าครั้งนี้เป็นการ “แก้ตัว” เพื่อปรับภาพลักษณ์ทางกีฬาของฝรั่งเศสอีกครั้ง

ฝรั่งเศสในช่วงต้นคริสต์ศวรรษที่ 20 แม้ว่าจะมีความโดดเด่นทางด้านศิลปวิทยาการ ความสุนทรีย์ สินค้าระดับแบรนด์เนม การต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งการเป็นเจ้าภาพเวิลด์แฟร์ (World’s fair) แต่ในเรื่องกีฬา โดยเฉพาะการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬา นั้น ถือได้ว่ายังห่างไกลจากมาตรฐานระดับสูงพอสมควร


ฝรั่งเศสมีประสบการณ์ที่เลวร้ายอย่างมาก จากการจัดโอลิมปิก 1900 ที่สะท้อนความไม่พร้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการต้องจัดร่วมกับเวิลด์แฟร์เพื่อควบคุมงบประมาณ สนามแข่งขันที่พื้นไม่ราบเรียบและเปียกแฉะ ระเบียบตารางเวลาที่ทำนักกีฬาสับสน และการประชาสัมพันธ์ที่ทำให้สื่อมวลชนเข้าใจผิดว่าไม่ใช่โอลิมปิก จนได้รับเสียงวิพากษ์อย่างมากมาย


จนในที่สุด ฝรั่งเศสก็ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอีกครั้งในชื่อ “ปารีส 1924” และเมื่อพิจารณารายละเอียดเหมือนกับว่าครั้งนี้เป็นการ “แก้ตัว” เพื่อปรับภาพลักษณ์ทางกีฬาของฝรั่งเศสอีกครั้ง


ครั้งนี้ขอแก้ตัว


ปิแอร์ เดอ คูแบร์แต็ง (Pierre de Coubertin) ยังคงเสียหน้าไม่หายภายหลังจากการเป็นโต้โผใหญ่ในการจัดงานโอลิมปิก 1900 แต่ได้รับคำวิจารณ์ทางลบอย่างหนาหูอย่างน้อย 3 เรื่องใหญ่ ๆ นั่นคือ


ประการแรก การประชาสัมพันธ์เข้าขั้นเลวร้าย เพราะผู้คนไม่ทราบว่ามีการแข่งขันโอลิมปิกเกิดขึ้น คิดเพียงเป็นหนึ่งใน “Showcase” หนึ่งของเวิลด์แฟร์เท่านั้น เรื่องนี้สร้างความงุนงงให้หลายฝ่าย นักกีฬาก็ไม่ทราบตารางการแข่งขันแน่ชัดว่าจะต้องไปยังสถานที่ใด ไม่เว้นแม้แต่นักข่าวที่ก็ไม่เข้าใจว่างานนี้คือโอลิมปิก และนำไปพาดหัวข่าวว่า “International Contests of Physical Exercise and Sport” มากกว่าที่จะเขียนว่าโอลิมปิก


ประการต่อมา เรื่องของสนามแข่งขันที่ก็ไม่ได้พร้อมสำหรับการแข่งขัน เพราะมีการใช้งานร่วมกับเวิลด์แฟร์ บางทีสิ่งของที่ใช้ออกร้านหรือตั้งโชว์ ก็ได้ไปทำลายสนามหญ้าและทำให้พื้นเปียกแฉะ เวลานักกีฬาลงแข่งขันทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บและผิดพลาดได้ง่าย หรือการแข่งขันว่ายน้ำในแม่น้ำแซน นักกีฬาต้องมานั่งวัดดวงว่ากระแสน้ำจะเชี่ยวกรากขนาดไหน หรือจะพบกับสิ่งปฏิกูลที่มาจากงานเวิลด์แฟร์หรือไม่


ประการสุดท้าย คือความแปลกของการมอบรางวัล เพราะปกติจะมอบเป็น “เหรียญรางวัล” ทอง เงิน ทองแดง แต่กับโอลิมปิก 1900 นี้ จะเป็นการมอบ “ถ้วยรางวัล” ที่ประทานโดยคูแบร์แต็งด้วยตนเอง จึงเกิดเป็นคำถามตามมาว่า ตกลงแล้วเป็นงานโอลิมปิกเกมส์หรือ “คูแบร์แต็งเกมส์” กันแน่


หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อเขาขึ้นเป็นประธานกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC จึงหมายมั่นปั้นมืออย่างมาก ว่าจะทำการล้างอายให้ฝรั่งเศสให้จงได้ และอีกนัยหนึ่ง คือต้องการที่จะไปให้เหนือกว่าโอลิมปิกที่ผ่าน ๆ มา อย่าง ลอนดอน 1908 หรือแอนท์เวิร์ป 1920 ที่สร้างความนิยมให้แบรนด์โอลิมปิกเพิ่มมากขึ้น


อีกทั้งเขาจะหมดวาระในการเป็นประธาน IOC ในปี 1905 เขาจึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้ปารีสได้กลับมาเป็นเจ้าภาพ โดยเขาทำการ Lobby คณะกรรมการสรรหาเจ้าภาพโดยให้เหตุผลว่า ฝรั่งเศสนั้นมีความพร้อมในการจัดมหกรรมนี้มากที่สุด เพราะเคยจัดมาก่อนแคนดิเดทที่เหลือ นั่นคือ เนเธอร์แลนด์ (อัมสเตอร์ดัม) สเปน (บาร์เซโลนา) สหรัฐอเมริกา (ลอสแองเจลิส) สาธารณรัฐเช็ก (ปราก) และอิตาลี (โรม)


อีกทั้ง เขาได้ไปทำการดีลลับกับเนเธอร์แลนด์ โดยสัญญาว่า จะให้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพในครั้งถัดไป (โอลิมปิก 1928) หากลงคะแนนเสียงให้ฝรั่งเศส ทำให้คูแบร์แต็งมีพันธมิตร มากกว่าแคนดิเดทอื่น ๆ ที่ห้ำหั่นกันเอง


และในที่สุด คูแบร์แต็งก็ได้สมใจอยาก และหลังจากนั้น เขาก็ได้ทำการฟื้นภาพลักษณ์ทางกีฬาให้แก่ฝรั่งเศสมากยิ่งขึ้น


สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ 


สิ่งที่คูแบร์แต็งหมายมั่นปั้นมือที่จะกระทำ นั่นคือ ความพยายามในการ “สร้างแบรนด์แบบใหม่หมด” เพื่อให้โอลิมปิกนั้นได้รับ “การรับรู้” ที่แตกต่างจากที่ผ่าน ๆ มา แรกเริ่มคือการคิด Motto แบบใหม่ที่ว่า Citius, Altius, Fortius” หมายถึง “เร็วกว่า ไปไกลกว่า และแข็งแรงกว่า” ซึ่งคูแบร์แต็งเสนอว่า


“สามศัพท์นี้ฉายให้เห็นจริยศาสตร์อันงดงามของโอลิมปิก สุนทรียศาสตร์นี้เป็นสิ่งซึ่งขึ้นหิ้งทีเดียว”


จริง ๆ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คูแบร์แต็งคิด Motto นี้ออกตั้งแต่ช่วงเข้ารับตำแหน่งประธาน IOC แล้ว แต่ที่เลือกเปิดตัว Motto นี้ ในโอลิมปิก 1924 ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า เขาต้องการ “หาซีน” ให้บ้านเกิดของตน


เท่านั้นยังไม่พอ เขายังให้การรับรอง “ไอร์แลนด์” สามารถเข้าแข่งขันโอลิมปิกในฐานะรัฐอิสระ ไม่ต้องมาในนามสหราชอาณาจักร ได้เป็นครั้งแรก แม้จะแยกออกมานานแล้วก็ตาม เรื่องนี้ ถือได้ว่าสร้างความเชื่อมั่นแก่ปณิธานของโอลิมปิกที่ว่า “กีฬาคือกีฬา การเมืองคือการเมือง” แม้อังกฤษจะไม่พอใจ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้


และที่สำคัญที่สุด คือการสร้าง “หมู่บ้านนักกีฬา” ขึ้นเป็นครั้งแรกในโอลิมปิก เพราะก่อนหน้านั้น นักกีฬาที่เข้าแข่งขันต้องจัดหาที่พักด้วยตนเอง เพราะคณะกรรมการโอลิมปิกสากลถือคติว่า “กีฬาคือกีฬา” ไม่มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง นักกีฬาที่มาแข่งขันต้องมาด้วยใจ ไม่หวังผลทางกำไรใด ๆ หวังเพียงเหรียญรางวัลกลับบ้านเท่านั้น


เขาออกบัญญัติ General Technical Rules ที่มีใจความสำคัญว่า “ประเทศเจ้าภาพโอลิมปิกจะต้องจัดหาที่พัก เครื่องนอน และอาหาร รวมไปถึงเงินสนับสนุนการครองชีพตลอดระยะเวลาที่นักกีฬาผู้นั้นอยู่ในการแข่งขันโอลิมปิก” นั่นจึงทำให้เกิดการสร้างหมู่บ้านนักกีฬาขึ้นมาแบบเป็นกิจจะลักษณะ โดยคูแบร์แต็งได้ดำริให้สร้างเป็นอาคารที่ทำด้วยไม้รอบ ๆ สนามแข่งขัน และจัดให้มี Gadgats ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก อาทิ ร้านอาหาร ยิมขนาดย่อม หรือไดร์เป่าผม


และเมื่อรูดม่านปิดฉากโอลิมปิก ปารีสก็ประสบความสำเร็จในการกู้ชื่อเสียงกลับมาอีกครั้ง เป็นที่กล่าวขานของผู้เข้าร่วม ทั้งยังเป็นมาตรฐานให้แก่การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในยุคต่อ ๆ มา จนถึงปัจจุบัน


World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]


แหล่งอ้างอิง


ข่าวแนะนำ