อาสาสมัครญี่ปุ่น 100 คน ช่วยกันปลูกหญ้าทะเล ดูดซับคาร์บอน
อาสาสมัครราว 100 คน รวมตัวกันบนชายหาดในเมืองโยโกฮามา เมืองท่าของญี่ปุ่น ลุยน้ำลงไปเพื่อปลูกหญ้าทะเล eelgrass ที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนได้
การปลูกหญ้าทะเลในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติตามแนวชายฝั่งของเมืองโยโกฮามา ทางตอนใต้ของโตเกียว ซึ่งถือเป็นโครงการที่สำคัญมากเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะหญ้าทะเลมีประสิทธิภาพในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งญี่ปุ่น เป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่มากเป็นอันดับ 5 ของโลก ตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ ภายในปี 2050
เคอิตะ ฟุรุคาวะ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลจาก Association for Shore Environment Creation กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาของงานนี้ เราได้เข้าใจว่า หญ้าทะเลสามารถดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้”
นับเป็นครั้งแรกของโลกที่การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกประจำปีของญี่ปุ่น ซึ่งจัดทำขึ้นภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ในเดือนนี้ ได้นำปริมาณคาร์บอนที่ดูดซับโดยหญ้าทะเลและสาหร่ายทะเลมาคำนวณด้วย
กระทรวงสิ่งแวดล้อมประมาณการว่า ในปีงบประมาณ 2022 ปริมาณคาร์บอนสีน้ำเงิน ซึ่งหมายถึงคาร์บอนที่ถูกกักเก็บตามธรรมชาติโดยระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง อยู่ที่ประมาณ 350,000 ตัน
แม้ว่าจะเป็นเพียง 0.03% จากก๊าซเรือนกระจก 1,135 ล้านตัน ที่ญี่ปุ่นปล่อยออกมาในปี 2022 แต่บลูคาร์บอนมีความสำคัญมากขึ้น เพราะต้นไม้ในป่าก็อายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งต้นไม้ที่มีอายุมากดูดซับคาร์บอนได้น้อยกว่าต้นไม้อายุน้อย
—————
ภาพ: Reuters
ข่าวแนะนำ