TNN รัสเซียปัดใช้อาวุธเคมีในยูเครน หลังสหรัฐฯ กล่าวหา รัสเซียย้ำเคารพกฎ

TNN

World

รัสเซียปัดใช้อาวุธเคมีในยูเครน หลังสหรัฐฯ กล่าวหา รัสเซียย้ำเคารพกฎ

รัสเซียปัดใช้อาวุธเคมีในยูเครน หลังสหรัฐฯ กล่าวหา รัสเซียย้ำเคารพกฎ

รัสเซียปฏิเสธสหรัฐฯ กล่าวหาใช้อาวุธเคมีสมัยสงครามโลกในยูเครน เร่งรุกคืบหน้าในภาคตะวันออกยูเครน ก่อนหน้าถึงวันฉลองชัยชนะของอดีตสหภาพโซเวียตในสงครามโลกครั้งที่ 2

ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ปฏิเสธคำกล่าวหาจากสหรัฐฯ รัสเซียใช้อาวุธเคมีในยูเครนว่าไม่มีมูลความจริง ยืนยันรัสเซียเคารพในอนุสัญญาอาวุธเคมี (CWC) ซึ่งรัสเซียได้ลงนามในอนุสัญญานี้ด้วย


อนุสัญญาอาวุธเคมี (CWC) ห้ามประเทศต่าง ๆ พัฒนา หรือ ซื้ออาวุธเคมีใหม่ 193 ประเทศได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาอาวุธเคมีดังกล่าว รวมถึงรัสเซีย


เมื่อปี 2017 หรือ 7 ปีก่อน ทางองค์การห้ามใช้อาวุธเคมี (OPCW) ยืนยันว่า รัสเซียได้ทำลายคลังอาวุธเคมียุคสงครามเย็นแห่งสุดท้ายไปแล้ว เป็นการปฏิบัติตามอนุสัญญา CWC


ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวหารัสเซียใช้สาร "คลอโรพิคริน" (Chloropicrin) กับทหารยูเครน เพื่อให้ทิ้งป้อมค่ายหนีไป และไม่ได้ใช้เพียงครั้งเดียว เป็นการละเมิดอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ห้ามใช้สารนี้ในสงคราม


ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุ คลอโรพิคริน เป็นสารน้ำมัน เคยถูกใช้อย่างกว้างขวางเป็นอาวุธเคมีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 สารพิษนี้ก่อความระคายเคืองให้แก่ปอด ดวงตา และผิวหนัง อาการของผู้ได้รับสารพิษคือคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หายใจไม่ออก


ต่อมาอนุสัญญา CWC ห้ามใช้สารนี้ในสงคราม และทางองค์การห้ามใช้อาวุธเคมี (OPCW) ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสารอันตรายที่ทำให้หายใจไม่ออก


คำกล่าวหาของสหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังยูเครนโวยว่า ทหารยูเครนถูกโจมตีด้วยอาวุธเคมีมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้ทหารยูเครนเสียชีวิต 1 นายเนื่องจากอาการหายใจไม่ออกจากแก๊สน้ำตา และบาดเจ็บอีก 500 นาย 


โดยทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ระบุในครั้งนี้ด้วยว่า รัสเซียใช้สารควบคุมการจลาจล หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า แก๊สน้ำตา ในปฏิบัติการในยูเครน


ส่วนสถานการณ์ในยูเครนล่าสุด กองทหารรัสเซียกำลังรุกคืบหน้าต่อเนื่องในภาคตะวันออกยูเครน ก่อนหน้าที่จะถึง "วันแห่งชัยชนะ" 9 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นวันหยุดในรัสเซียเพื่อฉลองและรำลึกถึงชัยชนะของอดีตสหภาพโซเวียตในสงครามโลกครั้งที่ 2


—————

ภาพ: Reuters

ข่าวแนะนำ