ปิดตำนานตระกูลลี ผู้นำผู้เป็นที่รักแห่งสิงคโปร์
ปิดตำนานตระกูลลี ส่งต่อทายาททางการเมืองนั่งเก้าอี้นายกฯ สิงคโปร์คนที่ 4 ชิมลางเตรียมพร้อมเลือกตั้งปลายปีนี้
การประกาศลาออกของนายลี ทำให้ชาวสิงคโปร์หลายคน ออกมาแสดงความอาลัย อาวรณ์ พร้อมยกย่องให้เขาเป็นผู้นำที่มากความสามารถ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจริยธรรม
--- “ลี เซียนลุง” ผู้นำผู้เป็นที่รัก ---
ภาพลักษณ์ของ “ลี เซียนลุง” บุตรชาย “ลี กวนยู” รัฐบุรุษสิงคโปร์ คือ ผู้นำประเทศที่ “เฉียบแหลมและแน่วแน่” แต่เปี่ยมด้วย “จริยธรรมและเอื้ออาทร” ต่อชาวเกาะปลายแหลมมลายู คุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคม รวมถึงเหล่านักการเมือง ทั้งคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตกตะกอนสะท้อนออกมา ถึงนายกฯ ลี ที่ประกาศจะก้าวลงจากตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ ที่ครองเก้าอี้มาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี
2 ทศวรรษของสิงคโปร์ ภายใต้รัฐบาลนายกฯ ลี เซียนลุง เผชิญกับความท้าทายนอกประเทศ อย่างวิกฤตการเงินระดับโลก และผลกระทบจากโควิด-19 มาจนถึงประเด็นภายในประเทศ อย่างโจทย์ใหญ่ในการรวมชาติที่แตกออกเป็นกลุ่มก้อน หรือที่ เฮง สวี คีต รองนายกรัฐมนตรีผู้ใกล้ชิดยกว่าเป็น “อัจฉริยภาพที่นิ่งเงียบ และกำมือที่หนักแน่น”
---- ผู้นำที่มีความสามารถหลากหลาย ---
บรรดารัฐมนตรีก็ให้ความเห็นสอดคล้องกัน อาทิ โจเซฟีน เตียว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและข้อมูล ซึ่งชื่นชมความสามารถของนายกฯ ลี ในด้านคณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการเทคโนโลยีสิงคโปร์ มากไปกว่านั้นคือ ความพยายามของนายกฯ ลี ที่จะเข้าใจเรื่องยาก ๆ เหล่านี้ ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยว่า “เรามีผู้นำที่สนใจในเนื้องาน เข้าใจในอุปสรรค และเชื่อในฝีมือของคนทำงานอย่างแท้จริง”
เช่นกันกับ เกรซ ฝู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ยกว่านายกฯ ลี คือ “ผู้สนับสนุนตัวยง” ต่อนโยบายของกระทรวง โอบรับการพัฒนาอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ทำให้เศรษฐกิจสิงคโปร์เติบโตไปพร้อมกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม
ด้าน ชี ฮง ทาต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอบคุณนายกฯ ลี ที่นำพาการพัฒนาระบบขนส่งให้มีความเท่าเทียม เชื่อมโยงทุกชีวิตกับสถานที่ใน “สิงคโปร์ที่แข็งแกร่งและดีกว่า” สำหรับประโยชน์และอนาคตของพี่น้องประชาชน นอกจากคณะรัฐมนตรีแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคกิจประชาอย่าง วิกรม แนร์ ก็ชี้ว่านายกฯ ลี มีความเป็นผู้นำอย่างเสมอต้นเสมอปลาย และมีความสามารถในการวางแผนระยะยาว ซึ่งเป็น “ผลประโยชน์อันใหญ่หลวงที่สุด” ที่ประเทศนี้มี
นาเดีย อาห์หมัด ซัมดิน ก็เปิดเผยด้วยว่าเคยเรียกนายกฯ ลี ว่า “บอส” แต่เขากลับขานรับกลับมาว่า “สหาย” จึงทำให้ฉุกคิดได้ว่า ไม่ว่าจะมีประสบการณ์เชี่ยวชาญมากี่ปี ก็ยังไม่ทำให้คนอื่นรู้สึกด้อยกว่า ที่สำคัญคือ “รู้จักรับฟัง” และจับมือกันให้มั่น ท่ามกลางโลกที่นับวันจะแตกออกเป็นเสี่ยง
“เรารู้สึกขอบคุณสำหรับความเป็นผู้นำและการทำงานของท่านนายกรัฐมนตรีที่มีต่อสิงคโปร์ ซึ่งเอาประโยชน์ของประเทศและประชาชนมาก่อนตนเองเสมอ” ชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ผ่านเพจเพซบุ๊ก ซึ่งน่าจะเป็นการรวบยอดความรู้สึกของผู้บริหารที่เคียงไหล่กับผู้นำรัฐบาลคนนี้
--- ปิดตำนาน 65 ปี “ตระกูลลี” ปกครองสิงคโปร์ ---
ทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าเป็นบทอำลา “หน้าฉาก” ก่อนปิดตำนาน “ตระกูลลี” จากตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายบริหารรัฐบาลสิงคโปร์ และนับว่าเป็นการสิ้นสุด 65 ปี ของการปกครองสิงคโปร์ นับตั้งแต่ “ลี กวน ยู” นายกรัฐมนตรีคนแรก ที่ได้ฉายา “บิดาผู้ก่อตั้งประเทศ” ผู้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเมื่อปี 1959 ก่อนส่งไม้ต่อให้บุตรชาย “ลี เซียน ลุง” ในปี 2004
จากนี้ เป็นการส่งไม้ต่อให้ทายาททางการเมืองอย่าง “ลอว์เรนซ์ หว่อง” รองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ตามกำหนดกลางปี 15 พฤษภาคมนี้
แต่ “หลังฉาก” นั้นเกิดอะไรขึ้น ? เป้าหมายของ ลี เซียนลุง ที่จะลงจากตำแหน่ง ก่อนกำหนดเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2025 คืออะไร ?
ดร.เหลียง ฉานหุง นักวิจัยสังคมจากสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศ เอส ราชารัตนัม แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง วิเคราะห์ว่า การเข้าสู่ตำแหน่งของ หว่อง ในเดือนหน้า จะเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมสำหรับ “ว่าที่นายกฯ” ในการปูทางเตรียมความพร้อม ระดมฉันทามติจากชาวสิงคโปร์ที่แตกออกเป็นกลุ่มก้อน ดันเข้าให้ผ่านการเลือกตั้งครั้งแรกให้สำเร็จ หรืออีกนัยหนึ่ง ไทม์ไลน์ที่จะเกิดขึ้นนี้ คือ “รันเวย์” ที่สร้างไว้ให้ หว่อง พร้อมสำหรับขับเคลื่อนสิงคโปร์ ในฐานะผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งคนต่อไป
สิ่งที่ว่าที่นายกฯ หว่อง ต้องเผชิญ คือ การหาสมดุลเข็มทิศในการบริหาร ภายใต้เงื่อนไขความไม่แน่นอนมากมายทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่ง ดร.เฟลิกซ์ ตัน ผู้สังเกตการณ์การเมืองอิสระ คาดว่า หากการเปลี่ยนผ่านอำนาจจาก ลี สู่ หว่อง สำเร็จในเดือนหน้า คาดว่าจะใช้เวลาเตรียมการประมาณ 6 เดือนจึงจะพร้อมเปิดคูหาเลือกตั้งได้ นั่นคือหมุดหมายเร็วขึ้นมาอยู่ที่ พฤศจิกายนปีนี้ ซึ่งสัญญาณก็ยิ่งชัดเจนขึ้น เมื่อล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาทบทวนเขตเลือกตั้งใหม่เตรียมพร้อมไว้รอแล้ว
นักวิเคราะห์ยังเห็นตรงกันด้วยว่า การเตรียมการโอนถ่ายอำนาจแท้จริงไม่ใช่แค่ระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 6 เดือนสำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงเท่านั้น แต่ หว่อง เริ่มต้นเตรียมตัวมา 2-3 ปีแล้ว สำหรับรัฐบาลชุดต่อไปเสียด้วยซ้ำ ตั้งแต่เป็นที่ชัดเจนว่านี่คือทายาททางการเมืองตัวจริงที่ ลี พร้อมให้สืบทอดตำแหน่งต่อได้ ซึ่งจะเป็นการประกันที่นั่งผู้นำทางการเมืองไว้ได้อย่างมั่นคง เพื่อให้จัดการปัญหาปากท้องได้โดยไม่ล่าช้า โดยเฉพาะค่าครองชีพและที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์
โจทย์หินที่ต้องใช้เวลาจัดการอีกระยะหนึ่ง แม้การแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองในสิงคโปร์จะไม่ได้ท้าทายเท่าไรนัก แต่ความเป็นกลุ่มก้อนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์คือความท้าทายอันยิ่งใหญ่บนเกาะขนาดเล็กแห่งนี้
ขณะเดียวกัน ความท้าทายที่นายกฯ ลี เจอมาก่อน ก็เป็นโจทย์ใหญ่ของว่าที่นายกฯ หว่อง ที่จะต้องเรียนรู้และปรับทิศทางการบริหารให้ทัน เพราะอาจเป็นปัจจัยชี้วัดความสำเร็จของการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล และเดิมพันผลเลือกตั้งครั้งแรกของ หว่อง ด้วย
—————
แปล-เรียบเรียง: ณัฐนนท์ เจริญชัย
ภาพ: Reuters
ข่าวแนะนำ