TNN World-in-depth: รักกันปานจะกลืน สหรัฐฯ-อิสราเอล กับความสัมพันธ์ที่ “แยกกันไม่ขาด”

TNN

World

World-in-depth: รักกันปานจะกลืน สหรัฐฯ-อิสราเอล กับความสัมพันธ์ที่ “แยกกันไม่ขาด”

World-in-depth: รักกันปานจะกลืน สหรัฐฯ-อิสราเอล กับความสัมพันธ์ที่ “แยกกันไม่ขาด”

ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อิสราเอล กับ “ความร้อนระอุ” ในระดับการระหว่างประเทศ หลังอิหร่านเปิดฉากโจมตีอิสราเอล

ณ ตอนนี้ ประเทศไทยของเราอยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สาดน้ำดับอากาศร้อนอย่างถ้วนหน้า แต่ในระดับการระหว่างประเทศ “ความร้อนระอุ” ได้มีการ “สุมขึ้น” อย่างแรงกล้า จากการที่อิหร่านโจมตีอิสราเอลด้วย “อาวุธหนักพิสัยไกล” ด้วยเหตุผลจากการที่อิสราเอลโจมตีสถานทูตอิหร่านในซีเรียเมื่อหลายวันก่อน


การนี้ นอกจากความน่าสนใจในเรื่องของ “การต่อสู้อากาศยาน (Anti-aircraft)” ของอิสราเอลที่ป้องกันภยันตรายของศัตรูอย่างชะงัดยิ่งแล้ว ยังมีประเด็นของ “ท่าทีของสหรัฐอเมริกา” ที่ประกาศพร้อมปกป้องอิสราเอลอย่างเต็มที่ แต่ไม่ยินดีที่จะร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ในปฏิบัติตอบโต้รุกกลับอิหร่านของอิสราเอลแต่อย่างใด


ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ-อิสราเอล มีความตึงเครียดจากกรณีที่อิสราเอลถล่มกาซาอย่างหนัก จนทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมาก ตลอดจนวิกฤตมนุษยธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิสราเอล และก้าวย่างของสหรัฐฯ ต่อวิกฤตครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าค้นหา



--- เงื่อนไขของดุลแห่งอำนาจ --- 


ดุลแห่งอำนาจ หากจะทำความเข้าใจอย่างง่าย ๆ นั่นคือ การประเมินว่า ประเทศของเรานั้น “เหนือกว่า” ประเทศอื่น ๆ มากน้อยเพียงไร ซึ่งความเหนือกว่านี้ อาจมาจากการสะสมยุทโธปกรณ์ นิวเคลียร์ กำลังทางทหาร หรือเทคโนโลยียุทธภัณฑ์ หากทิ้งห่างประเทศที่ตามมามาก ๆ เข้า ประเทศเราก็จะเป็น “มหาอำนาจ”


ดุลแห่งอำนาจ หากไม่สามารถที่จะกระทำการสร้างขึ้นมาได้ด้วยตนเอง ย่อมสามารถที่จะ “หาพวก” ได้ ดังนั้น เราจึงเห็นการรวมกลุ่มทางการระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อที่จะ “วัดศักยภาพ” ขึ้นมาท้าทายมหาอำนาจเดิม อย่างกรณีในอดีตแบบสหภาพโซเวียต ที่สร้างพันธมิตรด้วย “การเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์” หรือจีน ที่พยายาม “ช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ” ไปยังแอฟริกาตะวันออก


ผู้ที่ยังคงสร้างดุลแห่งอำนาจได้อย่างไม่ขาดสาย อย่างไรก็ยังเป็นสหรัฐอเมริกา อยู่วันยังค่ำ อย่างน้อยที่สุด ทรัพยากรในการสร้างสิ่งดังกล่าวที่มหาอำนาจผู้นี้ใช้ นั่นคือ “คุณค่าแห่งระบอบประชาธิปไตย” ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก หากประเทศใดเป็นประชาธิปไตย สหรัฐฯ ก็จะให้ความช่วยเหลือในฐานะ “เด็กดีของพ่อ”


แต่ก็มีอยู่พื้นที่หนึ่ง ที่มหาอำนาจผู้นี้ ไม่สามารถที่จะ “Penetrate” เพื่อธำรงดุลแห่งอำนาจของตนได้ นั่นคือ “ดินแดนตะวันออกกลาง หรือ โลกอาหรับ”


ง่าย ๆ เลยก็คือ คุณค่าแบบประชาธิปไตยไปกันไม่ได้กับวิถีของตะวันออกกลาง


ที่จริง สหรัฐฯ ได้พยายามที่จะ “เล่นเกม” เรื่องการสร้างดุลแห่งอำนาจนี้ ด้วยการให้การสนับสนุน “กลุ่มก่อการร้าย” เพื่อให้สร้างความปั่นป่วน วุ่นวาย หรือถึงกับล้มรัฐบาลของประเทศโลกอาหรับลง อาทิ ซัดดัม ฮุสเซน รวมถึง โอซามะ บินห์ ลาเดน หรือกระทั่งที่แตกออกมาเป็นกลุ่มไอเอส พวกนี้รับเงินจากสหรัฐฯ มาทั้งสิ้น


แต่แล้วทั้งหมดก็ลงเอยว่า “เป็นศัตรู” กับสหรัฐฯ ในบั้นปลาย เพราะขัดกันด้วยหลักการจริง ๆ


ดังนั้น ทางแก้จึงมีอยู่วิธีเดียว นั่นคือ “การให้การสนับสนุน” ประเทศที่ “มีความขัดแย้งเชิงหลักการกับโลกอาหรับ” ซึ่งหนีไม่พ้น “อิสราเอล” ซึ่งนับถือ “ศาสนายูดาห์ (ยิว)” และต้องการ “ครอบครองพื้นที่แห่งพันธสัญญา” อย่างเยรูซาเลม อย่างแข็งขัน


แน่นอนตามประวัติศาสตร์ที่เราทราบกัน สหรัฐอเมริกา “ให้การยอมรับ” การเกิดขึ้นเป็น “รัฐชาติ” ของอิสราเอล ท่ามกลางความไม่พอใจของโลกอาหรับอย่างมาก เพราะถือเป็นการแย่งสิทธิ์ในพื้นที่ของปาเลสไตน์แต่เดิม


ตรงนี้ จึงทำให้สหรัฐฯ สร้างดุลแห่งอำนาจ “เพิ่มขึ้นมาในพื้นที่โลกอาหรับ” ได้สำเร็จ



---  เงื่อนไขของภูมิรัฐศาสตร์ --- 


การเกิดขึ้นของรัฐชาติอิสราเอล ก็เหมือนสหรัฐฯ ได้ “พรรคพวก” เพิ่มขึ้น ในการ “คานอำนาจ” โลกอาหรับ ไม่ให้ “เหิมเกริม” ในภูมิภาคมากจนเกินไป


แต่นั่น หาได้เป็นเงื่อนไขเดียว หากแต่ การที่สหรัฐฯ ต้องให้ความสำคัญกับอิสราเอลอย่างหนัก เพราะว่า เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขเชิง “ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics)” ร่วมด้วย


นั่นคือ “ภูมิศาสตร์กำหนดความเป็นไปของการเมืองโลก” การจะพิจารณาเหตุการณ์ใด ๆ ในการระหว่างประเทศ จึงต้อง “ตั้งต้น” จากภูมิศาสตร์เป็นสำคัญ


อิสราเอล หากพิจารณาตามนี้ ก็จะพบว่า เป็น “หน้าด่าน” ในการที่จะ “ขวางกั้น” โลกอาหรับ กับ “โลกตะวันตก” ได้อย่างดียิ่ง แม้จะมีพื้นที่ขนาดเล็กมาก แต่นั่งก็เพียงพอที่จะ “การันตี” ได้ว่า ในการยาตราทัพของโลกตะวันตก จะมี “Checkpoint” อยู่ที่ประเทศนี้ โดยไม่ต้องไป “วิงวอน” ประเทศโลกอาหรับอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ได้เป็นมิตรกับโลกตะวันตกขนาดนั้น


นั่นจึงหมายถึง อิสราเอล จะสามารถ “Screen” ภยันตรายของโลกอาหรับ ที่จะเกิดขึ้นไปยังโลกตะวันตก โดยเฉพาะ “ภยันตรายเชิงกายภาพ (Physical Threats)” อย่างการยิงขีปนณาวุธพิสัยไกล การเคลื่อนกำลังพล หรือการป้องกันอากาศยาน ก็สามารถที่จะสร้าง “การกันไว้ดีกว่าแก้” ได้


ดังนั้น แม้จะมีความระหองระแหงกันไปเสียเล็กน้อย แต่สหรัฐฯ “ย่อมไม่อาจ” ที่จะตัดรอนความสัมพันธ์กับอิสราเอลไปได้แบบ “ตัดบัวไม่เหลือเยื่อใย” เพราะอย่างน้อยที่สุด หากขาด “หน้าด่าน” ที่สำคัญไปแล้ว สหรัฐฯ และโลกตะวันตก “จะไม่เหลืออะไร” ในการคานโลกอาหรับได้เลย


กระนั้น คำถามที่ตามมาคือ ในคำกล่าวของ โจ ไบเด็น ในประเด็นการโจมตีสวนกลับของอิหร่านที่มีต่ออิสราเอล กลับบอกว่า จะไม่กระทำการ “โจมตีเชิงรุก (Offensive Attack)” หรือก็คือ มหาอำนาจผู้นี้จะไม่ใช้กำลังทางทหารหรือยุทโธปกรณ์ของตนในการเข้าห้ำหั่นอิหร่าน อิสราเอลไปจัดการกันเอง


ตรงนี้ ถือว่าผิดวิสัยอย่างมาก เพราะตามหลัก หากหน้าด่านของตนสั่นคลอน ย่อมหมายความว่า ดุลแห่งอำนาจและภูมิรัฐศาสตร์ของตนก็จะสั่นคลอนตามไปด้วย


เรื่องนี้ อาจต้องเพิ่มเงื่อนไข “บทบาทการเป็นมหาอำนาจ” เข้ามา ดังจะกล่าวต่อไป



--- เงื่อนไขของบทบาทการเป็นมหาอำนาจ --- 


การเป็นมหาอำนาจในโลกปัจจุบันนี้ ไม่เหมือนกับการเป็นมหาอำนาจก่อนยุคสงครามเย็น แน่นอน สมัยก่อน มหาอำนาจ มี “เครื่องบ่งชี้ (Markers)” ว่าด้วย ความเป็นที่เลื่องลือด้านการรบ การมีศักยภาพในการเข้าช่วยเหลือ หรือการมีกองทัพจำนวนมหาศาล


แต่ภายหลังจากยุคสงครามเย็น “ศัตรูได้หายไปแล้ว” เพราะสหภาพโซเวียตล่มสลาย ดังนั้น มหาอำนาจจึง “พลิกมาเป็นบทบาทเชิงรับ (Defensive)” มากยิ่งขึ้น โดยหันมาเป็น “ผู้ปกป้องคุณค่าบางอย่าง” แทน อาทิ การออกข้อบังคับว่าด้วยการไม่แทรกแซง (Non-intervention) ข้อบังคับว่าด้วยการให้แต่ละประเทศตัดสินใจปกครองด้วยตนเอง (Self-determination) หรือแม้กระทั่งเชิดชูความหลากหลาย (Diversity) ของสากลโลก


ทำให้การรบพุ่งนั้น เป็นเรื่อง “รองลงมา” หากไม่จำเป็นจริง ๆ อาทิ หากแม้นไม่ได้มีการยิงขีปนาวุธพิสัยไกล หรือยกพลขึ้นบกแผ่นดินสหรัฐฯ ย่อมไม่มีทางที่จะเกิดการตอบโต้แบบเชิงรุกจากมหาอำนาจผู้นี้แน่นอน


อาจถกเถียงได้ว่า สหรัฐฯ ก็ยังมีการส่งทหารไปรบยังดินแดนต่าง ๆ แต่หากพิจารณาดี ๆจะพบว่า การไปรบเหล่านั้น “ไม่ได้เอาเป็นเอาตาย” แบบสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามเกาหลี ที่เกี่ยวข้องกับดุลแห่งอำนาจ และภูมิรัฐศาสตร์แบบชัด ๆ เหมือนการไปรบเพื่อ “ปกป้องคุณค่าบางอย่าง” เสียมาก


และการรบดังกล่าว ส่วนใหญ่ก็ “ล้อฟรี” กลับมา อาทิ การถอนทหารออกจากสงครามเวียดนาม หรือออกจากอัฟกานิสถาน 


ซึ่งตามหลักการแล้วการกระทำเช่นนี้ถือว่ามหาอำนาจ “สิ้นท่าแบบหมดรูป” และจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการยอมรับ แต่สหรัฐฯ กับดำเนินการเช่นนี้แบบไม่ลังเลเลยทีเดียว


เมื่อเป็นเช่นนี้ การเล่นบทบาทผู้ปกป้อง ในฐานะมหาอำนาจ จึงเป็นสิ่งที่ “ค้ำคอ” สหรัฐฯ ไม่มากก็น้อย


อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือการ “คาดการณ์ผ่านหลักวิชา (Speculative)” เท่านั้น ในสถานการณ์จริง อาจมีเงื่อนไขบางอย่าง ที่จะทำให้เกิดอะไรที่ “เหนือความคาดหมาย” ก็เป็นได้


เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด  รับข่าวสารเชิงลึก และกลั่นกรองตามวิจารณญาณให้ดี ๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

—————

แปล-เรียบเรียง: วิศรุต หล่าสกุล

ภาพ: Reuters


ข้อมูลอ้างอิง:

หนังสือ Theory of International Politics

หนังสือ War and Change in World Politics

บทความ Israel’s Geopolitical Strategy: Strategic Partnership, Territorial Disputes and International Support

บทความ U.S. Interests and the Israel-Palestine Conflict: A Review

บทความ Israel's Gaza Invasion Geopolitical Changes and Regional Security Implications

foreignaffairs

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง