TNN World-in-depth: เมื่อเรือ “ต้าหลี่” ขนาดใหญ่ สะท้อน “อันตราย” ของ เรือขนส่งสินค้า ณ ปัจจุบัน

TNN

World

World-in-depth: เมื่อเรือ “ต้าหลี่” ขนาดใหญ่ สะท้อน “อันตราย” ของ เรือขนส่งสินค้า ณ ปัจจุบัน

World-in-depth: เมื่อเรือ “ต้าหลี่” ขนาดใหญ่ สะท้อน “อันตราย” ของ เรือขนส่งสินค้า ณ ปัจจุบัน

ส่อง 2 ประเด็นสำคัญ “ปัญหา” ของอุบัติเหตุเรือต้าหลี่

ข่าวใหญ่ที่สุดในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม 2024 นั่นคือ เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่สัญชาติสิงคโปร์นาม ต้าหลี่ ได้สูญเสียการควบคุม และพุ่งชนตอม่อของสะพานฟรานซิส สก็อต คีย์ ที่บัลติมอร์ จนสะพานพังครืนลงมา และมีผู้เสียชีวิต 6 ราย


แน่นอน หากไม่คิดอะไรมาก สิ่งนี้ย่อมเป็น “อุบัติเหตุ” หรือเรื่องสุดวิสัยเฉย ๆ หากแต่ลองคิดให้ลุ่มลึกกว่านี้ไปอีกขั้น อาจทำให้คิดได้ว่า “มีบางสิ่งที่เป็นใต้ภูเขาน้ำแข็ง” จากอุบัติเหตุในครั้งนี้ ไม่มากก็น้อย


และนี่คือ 2 ประเด็นสำคัญ ที่อาจจะเป็น “ปัญหา” ของอุบัติเหตุเรือต้าหลี่ก็เป็นได้ 



--- พลังแห่งบริโภคนิยม --- 


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตั้งแต่กระดาษชำระ ยันแลมโบร์กีนี ทุกสิ่งอย่างล้วนมาจากการ “Shipping” ทั้งสิ้น 


นั่นเพราะ การขนส่งทางทะเลนั้น มีข้อได้เปรียบกว่าทางบกและทางอากาศ ในเรื่องของ “ขนาดบรรจุ” ที่มากกว่าเป็นไหน ๆ ทั้งยังไม่มีเรื่องของ “การสัญจรติดขัด” ด้วยผืนสมุทรนั้นกว้างใหญ่กว่าผืนทวีปและท้องนภามากโข


เมื่อเป็นเช่นนี้ ด้วยข้อได้เปรียบดังกล่าว จึงทำให้การขนส่งทางทะเล จึงเป็นที่สอดรับกับ “พลังบริโภคนิยม” เป็นอย่างมาก


เมื่อโลกเชื่อมร้อยเข้าหากันได้อย่างแนบสนิท เรานึกอยากจะบริโภคสินค้าจากอีกซีกโลกหนึ่ง ย่อมทำได้โดยง่าย อาทิ เราอยากได้ไซเบอร์ทรัคของเทสลา รอไม่เกิน 2-3 เดือน สินค้าจะขนส่งทางเรือมาประเคนให้ถึงที่ 


และเมื่อความต้องการในการบริโภคมากเข้า ๆ สิ่งที่ตามมา นั่นคือ “ขนาด” ของเรือบรรทุกสินค้า ย่อมต้องขยายใหญ่ เพื่อให้เพียงพอต่อการบรรจุ “กิเลสของมนุษย์” ตามไปด้วย


ไม่สังเกตดี ๆ ย่อมไม่ทราบได้ว่า ขนาดของเรือต้าหลี่ เมื่อเทียบเคียงแล้ว มีความใกล้เคียงกับหอไอเฟลเลยทีเดียว


และเมื่อเรือบรรทุกมีขนาดใหญ่ถึงเพียงนี้ และมีแนวโน้มที่จะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามพลังแห่งบริโภคนิยม ย่อมเป็นการง่ายที่จะเกิด “การสูญเสียการควบคุม” และที่สำคัญ เมื่อสูญเสียการควบคุมไปแล้ว ด้วยขนาดของเรือ จึงเป็นการยากอีก ที่จะควบคุมสถานการณ์ ตรงนี้ จึงเหมือนประหนึ่ง “นั่งรอความตาย” เสียให้ได้


ที่จริง ต้าหลี่ได้ส่งสัญญาณเตือนเจ้าหน้าที่ของบัลติมอร์ ให้เกณฑ์ไพร่พลออกจากสะพานโดยพลัน ไปก่อนหน้านั้น หากแต่ด้วยขนาด จึงไม่อาจที่จะประเมินทั้งเรื่องของระยะเวลาหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้



--- ตัวไกลใจเหงา --- 


เบื้องต้น เป็นเรื่องของชุดวิธีคิดนามธรรม หากแต่เมื่อกลับมาพิจารณาสิ่งที่เป็นรูปธรรม เรือจะแล่นไม่ได้ หากขาด “องคาพยพ” ที่ทำงานอยู่บนนั้น โดยเฉพาะ “ลูกเรือ”


แน่นอน การเดินเรือ ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน ย่อมต้องใช้ระยะเวลาที่นานโข หากแต่ ในการเดินเรือบรรทุกสินค้า ที่มีขนาดใหญ่ และจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ย่อมหมายความว่า “ระยะเวลา” ที่จะต้องอยู่บนเรือ ก็จะต้องนานขึ้น เพราะเรือไม่สามารถที่จะทำความเร็วระดับ Fast and Furious ได้


และแน่นอน เมื่ออยู่บนเรือนาน ๆ สิ่งที่เกิดขึ้น ย่อมเป็นเรื่องของ “ปัญหาในการตัดสินใจ” จริงอยู่ ลูกเรือต้องฝึกฝนมาให้พร้อมรับมือทุกสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่อย่าลืมว่า เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “ระบบประสาทและสมอง” เป็นเรื่องที่ยากแท้หยั่งถึงมาก ต่อให้ฝึกมาดี ก็ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้เสมอไป


และอีกอย่าง ลูกเรือพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเวลาไปทำงานในที่ไกลบ้าน มักมีอาการ “Homesick” หรือการคิดถึงบ้าน ตามมาเป็นเงาตามตน ยิ่งการต้องมาอยู่บนเรือขนส่ง ที่แทบไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ไม่เกิดความเครียดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ ย่อมเป็นไปไม่ได้



--- เหตุร้ายอยู่ไม่ไกล --- 


เมื่อมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า ทั้งพลังแห่งบริโภคนิยม และปัญหาด้านการตัดสินใจ ย่อมอาจทำให้อุบัติเหตุเรือต้าหลี่ชนสะพาน สามารถที่จะ “สร้างคำอธิบาย” ได้มากกว่าเพียงเรื่องของอุบัติเหตุ


กระนั้น สิ่งที่ต้องพึงระลึกไว้ นั่นคือ เราจะเห็นว่าบางสิ่งเป็นปัญหา ก็ต่อเมื่อปัญหานั้นได้เกิดขึ้น


การขนส่งสินค้าทางทะเล ทำให้การบริโภคของเราได้รับการเติมเต็ม แต่สิ่งที่ต้องแลกมา เรากลับแทบจะไม่ทราบเลยว่ามีประการใด ซึ่งเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้เสียจริง ๆ

—————

แปล-เรียบเรียง: วิศรุต หล่าสกุล

ภาพ : Reuters


ข้อมูลอ้างอิง:

123

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง