เกาหลีใต้พัฒนา “ดวงอาทิตย์เทียม” กับ “การแสวงหาสถานภาพ” ที่พร้อมจะคืนทุน?
นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญสำหรับวงการวิทยาศาสตร์และเกาหลีใต้ ในการที่ Korea Superconducting Tokamak Advanced Research (KSTAR) สามารถสร้าง “ดวงอาทิตย์เทียม” ที่มีอุณหภูมิมากถึง 100 ล้านองศาเซลเซียส ในระยะเวลา 30 วินาที ซึ่งถือว่าให้ความร้อนกว่าแก่นของดวงอาทิตย์จริง ๆ เกือบ 10 เท่า เลยทีเดียว
แน่นอน การทดลองที่สุดแสนจะสิ้นเปลืองนี้ ยู ซอก แจ ประธาน Korea Institute of Fusion Energy มีการให้เหตุผลว่า กระทำการไปเพื่อ “แสวงหาพลังงานสะอาดทดแทน” นั่นเพราะ “พลังงานที่มาจากสิ่งนี้ไม่มีจำกัด แถมยังไม่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก และปล่อยคลื่นกัมมันตรังสีน้อย สิ่งนี้หาใช่ความฝันไม่”
กระนั้น คำถามที่ตามมา นั่นคือ การทดลองดังกล่าวนี้คือ “Mega Science Project” ที่ต้องใช้งบประมาณในการลงทุนมหาศาล และไม่แน่ใจว่า จะทำการ “คุ้มทุน” ได้หรือไม่ และเมื่อใด
ตรงนี้ ถือว่า “ผิดวิสัย” ของมหาอำนาจกลาง แบบเกาหลีใต้ ที่ส่วนมาก จะเน้นการพัฒนา “สินค้าที่จับต้องไม่ได้” ประเภทสินค้าทางวัฒนธรรม เช่น ดนตรี เพลง การแสดง ภาพยนตร์ หรือซีรีย์ ที่ลงทุนน้อยกว่า แต่ได้ผลตอบแทนมากกว่ามาก!
บางที ทั้งหมดนี้ อาจเป็นเรื่องของ “การแสวงหาสถานภาพ” ประการหนึ่ง
วิทยาศาสตร์เพื่อการแสวงหาสถานภาพ
แน่นอน ยุคสมัยนี้คือการต่อสู้กันด้าน “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” แต่การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะสามารถพัฒนาสิ่งดังกล่าวได้นั้น “การลงทุน” จะต้อง “มีความเสี่ยง” อย่างมาก เพราะไม่สามารถที่จะตอบได้เลยว่า ในการพัฒนาแต่ละครั้ง จะคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงทุนไปหรือไม่ ทั้งยังเป็น fixed costs ที่จะจ่ายเรื่อย ๆ หากจะทำการแข่งขันได้กับประเทศอื่น ๆ ที่พร้อมจะพัฒนาด้านเดียวกัน
ดังนั้น สิ่งที่ง่ายที่สุด นั่นคือ “การซื้อ” วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาสิ่งเหล่านี้จนถึงขีดสุด ซึ่งส่วนมากแล้ว มักจะเป็นมหาอำนาจของโลก สิ่งนี้ จะช่วยให้ประหยัดงบประมาณแผ่นดินไปได้มาก
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ฉลาดอย่างมาก โดยพวกเขาได้เลือกใช้วิธีที่เรียกว่า “Reversed-engineering” หรือก็คือ “การซื้อเทคโนโลยีมา ทำการแยกส่วน เพื่อลอกเลียนแบบ และทำเป็นของใหม่” ซึ่งส่วนมาก จะเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมหนัก อาทิ รถยนต์ เรือเดินสมุทร โทรทัศน์ โทรศัพท์ หรือแม้กระทั่ง การผลิตอาวุธ
แน่นอน สิ่งนี้ทำให้ลูกหลานพระเจ้าเซจง “ได้ดุลการค้า” ประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ เพราะไม่มีต้นทุนด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของตนเอง สินค้าจึงไม่แตกต่าง แต่ราคาถูกกว่ามาก
กระนั้น จุดด่างพล้อยของเกาหลีใต้ นั่นคือ การเคยได้รับการตีตราว่าเป็น “ประเทศนักเลียนแบบ” [มาก่อนจีนเสียอีก] ไม่มีความสามารถมากพอในการที่จะ “คิดอะไรเอง”
ตรงนี้ นับเป็นเรื่องที่ “สร้างความรำคาญใจด้านสถานภาพ (Status Dissatisfaction)” ของเกาหลีใต้ ในขณะนั้น ที่ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า จากการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมไปถึงการเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมหนักใหม่ (Newly Industrialized Countries: NICs) และการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) แต่กลับ “ไม่สามารถสร้างสิ่งใดเป็นของตนเองได้เลย” เช่นนี้ก็เกินไป อาจเป็นที่อับอายสมาชิกอื่น ๆ ได้
ดังนั้น เมื่อเวลาพร้อม การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการแสวงหาสถานภาพ จึงได้เริ่มต้นขึ้น
เกาหลีใต้ได้กระทำการหลายอย่างมาก แต่ที่ขึ้นชื่อที่สุด นั่นคือ การพัฒนา “สารกึ่งตัวนำ (Semiconductors)” ที่ใช้ในส่วนหนึ่งของการผลิตชิป สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง ณ ตอนนี้ ไม่มีใครที่จะพัฒนาได้ก้าวล้ำไปกว่าดินแดนคาบสมุทรแห่งนี้ โดยเกาหลีใต้ ยังเปลี่ยน “สถานะ” เป็น “ผู้ถ่ายทอด” ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ตนไปตั้งฐานการผลิต อาทิ เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย อีกด้วย
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกาหลีใต้ไปถอดประกอบมา ค่อย ๆ เก็บสั่งสมมายาวนาน เสียจนสามารถที่จะเป็น “สารตั้งต้น” ในการที่จะไปพัฒนาต่อยอดได้ในทันท่วงที ไม่ต้องคิดเองตั้งแต่ต้น ประหนึ่งมี “ทรัมโบลีน” ไม่ต้องใช้แรงกระโดดเอง
แน่นอน มีของ แต่ทรัพยากรบุคคลไม่พร้อม ก็ไม่สามารถสร้างอะไรใหม่ได้ เกาหลีใต้จึงใช้วิธีการที่จะ “แทรกซึม” บุคลากรของตนเอง ไปในที่ที่วิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้า อย่างการเข้าร่วมทุนการพัฒนาอวกาศยานกับรัสเซีย หรือการร่วมลงทุนกับบริษัทใน Silicon Valley เพื่อให้เกิด “การตามทัน” ว่าโลกวิทยาศาสตร์ไปถึงไหนต่อไหน
และที่สำคัญ รัฐบาลจะต้อง “ใจป๋า” ให้เงินลงทุนมาก ๆ ซึ่งเกาหลีใต้เป็นแบบนี้มาช้านาน มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลอำนาจนิยม พัค จ็อง ฮี โดยในปี 2018 มีการลงทุนในด้านนี้ไปมากกว่าร้อยละ 4.5 ของจีดีพี เลยทีเดียว
เมื่อองค์ประกอบ “สมประสงค์กัน” การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงรุดหน้า สามารถคิดค้นอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ แน่นอน “การทดลองดวงอาทิตย์เทียม” คือหนึ่งในนั้น
สถานภาพมาพร้อมกับผลประโยชน์
เมื่อมาถึงตรงนี้ การที่เกาหลีใต้สร้างดวงอาทิตย์เทียมได้ เรื่องสถานภาพ โดยเฉพาะ สถานภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ย่อมเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย แต่กระนั้น สถานภาพนี้ มาพร้อมกับเรื่องของ “ผลประโยชน์” ที่จับต้องได้
ลองคิดตามว่า การสร้าง “ดวงอาทิตย์เทียม” ที่ให้พลังงานมากกว่าแก่นดวงอาทิตย์จริงถึงกว่า 10 เท่า แน่นอน ตอนนี้ยังคงสถานะของพลังงานได้เพียงแค่ 30 วินาทีเท่านั้น แต่หากคงสถานะได้ในเวลาที่มากกว่านั้น สิ่งที่จะตามมา นั่นคือ อย่างน้อยที่สุด ประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการพลังงานสะอาด จะต้องทำการ “ดีล” ด้วยเป็นแน่ และเมื่อเกาหลีใต้เป็น “ตลาดผูกขาด” เพราะทำได้เพียงประเทศเดียว ก็จะเป็นผลดีอย่างยิ่งได้
นักวิทยาศาสตร์ของ KSTAR ได้ออกมาชี้ชัดว่า “ตอนนี้ เราอยากให้คงสถานะได้อย่างน้อย 300 นาที เพราะเวลานี้ เป็นเวลาขั้นต่ำในการที่พลาสมาจะคงอยู่ตลอดไป”
เมื่อถึงตรงนั้น การแสวงหาสถานภาพของเกาหลีใต้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็อาจจะ “คืนทุนหรือทำกำไร” ก็เป็นได้
แหล่งอ้างอิง
- หนังสือ Fighting for Status: Hierarchy and Conflict in World Politics
- หนังสือ The Price of Prestige: Conspicuous Consumption in International Relations
- บทความ Shaping Mega-science Projects: Practical Steps for Success
- https://www.wionews.com/science/south-korean-scientists-create-an-artificial-sun-in-pursuit-of-unlimited-clean-energy-515686
- https://www.wionews.com/science/hotter-than-the-real-sun-chinas-artificial-sun-sets-massive-record-for-plasma-fusion-442592
ข่าวแนะนำ